นับถอยหลัง "ฐากร ปิยะพันธ์" โบกมือลา "เครือไทยโฮลดิ้งส์"
เตรียมตัวนับถอยหลังบทบาทซีอีโอ "เครือไทยโฮลดิ้งส์" (TGH) ของ "ฐากร ปิยะพันธ์" ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือน พ.ย.64 นี้ ชวนย้อนดูบทสัมภาษณ์ของฐากร กับแผนงานสู่เป้าหมาย TOP5 บนสังเวียนประกันวินาศภัยและประกันชีวิต
เกิดอะไรขึ้นกับพี่เอ๋อ ฐากร ปิยะพันธ์ ที่ตัดสินใจโบกมือลาจากเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH กลุ่มธุรกิจการเงินและประกันของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีติดอันดับโลกของไทย โดยมีผลวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ทั้งๆ ที่เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 23 พ.ย.2563 เป็นเรื่องที่ยังต้องหาคำตอบต่อไป
"กรุงเทพธุรกิจ" รายงานบทสัมภาษณ์ ฐากร ปิยะพันธ์ ไว้เมื่อต้น 6 ม.ค. 2564 หลังรับตำแหน่งใหม่ๆ ที่ TGH โดยการมาของ ฐากร ที่เพิ่งโบกมือลาธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นข่าวที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการ “การเงิน” “ประกัน”ในขณะนั้นเลยทีเดียว เพราะ ฐากร ได้ชื่อว่า เป็นผู้ปลุกปั้น "กรุงศรีคอนซูเมอร์" ทั้งบัตรเคดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคล จนติดลมบนมาแล้ว
การมาของ “ฐากร” ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้เพียง 2 เดือน(ในขณะนั้น) ยิ่งดูดดึงให้ “เครือไทยโฮลดิ้งส์” น่าจับตา และโดดเด่นมากขึ้นไปอีก เพราะตั้งแต่ “ฐากร” เข้ามาดำรงตำแหน่งไม่นาน ก็ได้เข้ามาพลิกฟื้น “เครือไทยโฮลดิ้งส์” จากเงียบๆ ให้ฟื้นกลับมา มีชื่อติดชาร์ตในแวดวงการการเงินอีกครั้ง และเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกมากขึ้น ด้วย ฝีมือของ “ฐากร” แม่ทัพใหญ่ ของ TGH
“ฐากร” แม่ทัพแห่ง TGH เล่าให้ฟังว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเครือไทยโฮลดิ้งส์ในช่วง 3 ปีแรก หลักๆ ในช่วง 2 ปีแรก อาจไม่ได้หวือหวามากนัก แต่จะเป็นปีที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นการปรับเปลี่ยน เห็นการเพิ่มสิ่งต่างๆ ให้เท่ากับคนอื่น และเป็น 2 ปี ที่ต้องให้ความสำคัญ ในการปรับวัฒนธรรมองค์กร เห็นการจัดองค์กรให้เป็นระบบมากขึ้น และวางโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆเพื่อต่อยอดการเติบโตธุรกิจ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กร มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การเร่งลงทุน เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยี ให้เครือไทยโฮลดิ้งส์ ผ่าน Core Platform คือ อินชัวร์เทค ,ดาต้า และ ปัญญาประดิษฐ์(AI) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้มีการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มร่วมกับสิงคโปร์ (PUSEMETRICS PTE LTD.) โดยได้ตั้ง บริษัทเซ็นทริคส์ คอนซัลติ้ง จำกัด เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล วิจัย และจัดตั้งบริษัท เอสโซฟิน จำกัด เพื่อให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TGH เพื่อรองรับการทำดิจิทัลโซลูชั่น เหล่านี้ทำให้ TGH มีความพร้อมแล้วระดับหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น TGH ยังได้มีการลงทุนผ่านพันธมิตร อาทิ 500 TukTuk และยังอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรอีก 4-5 ราย เพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจประกัน หรือ สินเชื่อในอนาคตเพิ่มเติมด้วย
“แนวทางที่เราไว้ในช่วง 3 ปีแรก คือการพัฒนาระบบ วางโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับแผนของกรุ๊ป ภายใต้ คอนเซปต์ “Life Solution Insurance and Financial Platform” ที่สามารถสร้างอีโคซิสเต็มด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น รถ บ้าน ครอบครัว สุขภาพ และสถาบันที่มีฐานเครือข่ายอยู่ โดยจะใช้ศักยภาพนี้ต่อยอดธุรกิจ”
สำหรับเป้าหมายของการขยายการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ปัจจุบัน บริษัทมีฐานลูกค้าที่ราว 3 ล้านคน แผนคือต้องผลักดันลูกค้าเหล่านี้ ให้ขึ้นมาอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มให้ได้ราว 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
หากสามารถทำได้ตามแผน เชื่อว่า หลังจากนี้จะเห็นการเติบโตของธุรกิจวินาศภัยและประกันชีวิตก้าวกระโดด และเป็นส่วนผลักดันสำคัญให้บริษัทก้าวขึ้น 1 ใน 5 หรือ Top5 ในธุรกิจดังกล่าวในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่อันดับ 6 และประกันชีวิตอันดับ 10 ถือว่าไม่ง่ายแต่ก็ไม่เกินเอื้อมภายใต้คู่แข่งที่ใหญ่และแข็งแกร่ง
อีกด้าน คือ รักษาผู้นำอันดับหนึ่ง ในธุรกิจรถเช่าองค์กรให้ต่อเนื่อง และต่อยอดไปสู่การเติบโตใหม่ๆ ได้มากขึ้น เช่นเดียวกันการต่อยอดธุรกิจของบริษัทที่อยู่แล้วให้เติบโตมากขึ้น ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นเองหรือส่งต่อพันธมิตร เช่น การต่อยอดธุรกิจโรงพยาบาลในเครือข่าย ที่มีกว่าสองพันแห่ง หรือสามารถทำ Crowdsourcing อะไหล่รถยนต์ เป็นต้น
“หากเราทำให้ทั้งตลาดประกันวินาศภัยและชีวิตเป็นดิจิทัลได้ โอกาสในการเติบโตจะมีอีกเยอะ วันนี้คนซื้อประกันผ่านดิจิทัลไม่ได้มาก แต่หากบริษัทสามารถให้บริการที่ดี มีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ดี สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้ คุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่าย ต่อไปก็ไม่จำเป็นที่ต้องดั๊มพ์ราคาแข่งกัน ธุรกิจก็โตได้”
..ทั้งหมดนั้น คือ แผนระยะ 3 ปีที่ ฐากร วางไว้สำหรับเครือไทยโฮลดิ้งส์ บนเป้าหมายก้าวสู่ Top5 ของธุรกิจวินาศภัยและประกันชีวิตในประเทศไทย ที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อไม่มีชายชื่อ "ฐากร" รั้งบังเหียนบริหารแล้ว เครือไทยโฮลดิ้งส์ จะเดินต่อในทิศทางใด
และก้าวต่อไปของ ฐากร ปิยะพันธ์ จะยังโลดแล่นในอุตสาหกรรมการเงินในบทบาทและสถานะใด หลังจากนี้!?