คริปโตโนแมดความหวังฟื้นท่องเที่ยวปูทางคริปทัวรึซึ่ม-ดิจิทัล ทริปเปอร์ไอ
ท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ แต่ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมีแนวคิด Cryptourism ดึงต่างชาติถือเงินดิจิทัลกระตุ้นท่องเที่ยวพร้อมเล็งผุดแพลตฟอร์มช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบาง
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า นโยบายเปิดประเทศหลังโควิดของรัฐบาล ททท. เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายหลักที่น่าสนใจคือ นักท่องเที่ยวคือผู้มีความมั่งคั่ง มีกำลังซื้อสูง ซึ่งกลุ่มถือสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ “คริปโตเคอเรนซี่” เช่น บิตคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เป็นหนึ่งในนั้น จึงเกิดแนวคิด “Cryptourism” ขึ้นมา
เนื่องจากทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยมองว่า 1.เป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะสั้นเพื่อให้ได้สภาพคล่องเข้ามา 2 .เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับตัวเพื่อรองรับการเข้ามาของคริปโตเคอร์เรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ 3. ไทยต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา
“จากเดิมไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้นการรักษาตำแหน่งและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์อนาคตเป็นสิ่งสำคัญ”
ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ททท.อยากเห็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไปในอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานดิจิทัล เรียกว่า เป็น “ดิจิทัล ทริปเปอร์ไอ” ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ไอแรกคือ อุตสาหกรรม ที่ต้องเป็นดิจิทัลมากขึ้น 2. ดิจิทัล อินเวสเมนท์ คือการให้ความสำคัญกับการลงทุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และ 3.ดิจิทัล อินโนเวชั่น เป็นการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ไม่ว่าจะเป็นเออาร์ วีอาร์ บล็อกเชน เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ททท.อยากทำ
นอกจากนี้ ททท.กำลังทำแพลตฟอร์มช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลุ่มเปราะบาง มีปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน ในรูปแบบโทเคน ดิจิทัล พร้อมใช้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตเร็วมากในไทยและเป็นเทรนด์ของโลก จาก 4 ปีที่ผ่านมามาร์เก็ตแคป 800 พันล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันโต4 เท่าของจีดีพีประเทศไทย ฉะนั้นการดึงกลุ่ม “คริปโตโนแมด” จะมีผลต่อการกระตุ้นจีดีพีของประเทศมหาศาล หากสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับดิจิทัลเข้ามารองรับจะสามารถถึงคนกลุ่มนี้เข้ามาประเทศไทย สามารถทำให้จีดีพีไทยโตได้อีก 4 เท่าตัวจากเดิมที่จีดีพีจะมาจากการท่องเที่ยว 20%
“เทรนด์ที่กำลังจะมาหลังจากโควิด คือ กลุ่มคริปโตโนแมด อยากที่จะเข้ามาเมืองไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมือง Workation เหมาะกับการทำงานและพักผ่อนที่สุดในโลก"
ขณะเดียวกันเกิด นาโน อองเทอร์เพอร์เนอร์“ที่สามารถรับงานได้จากหลายบริษัท เช่น อาชีพกราฟิก ดีไซเนอร์ คล้ายๆ กับฟรีแลนซ์หรือกิ๊ก อีโคโนมี ที่ประกอบอาชีพอิสระสามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้ ซึ่งเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราว มีความยืดหยุ่นด้านเวลาสูง และพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์ในการทำงาน ซึ่งเป็นเทรนด์การทำงานที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลส์ ดังนั้น คนเหล่านี้จะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำงานได้ จะอยู่กรุงเทพฯ เขาใหญ่ เชียงใหม่ ภูก็ต ก็ได้ ดังนั้นโรงแรมสามารถเปิดให้บริการพักระยะยาวได้จากเดิมที่เป็นระยะสั้น
จิรายุส กล่าวว่า ททท. น่าจะสร้างแพลตฟอร์มลิงค์ท่องเที่ยวออกมาเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆเหมือนกับแพลตฟอร์ม “แอร์บีแอนด์บี” (Airbnb) ทราเวลโลก้า หรืออโกด้า เชื่อทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ จากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงดาต้าที่มีอยู่ รวมทั้งแนะให้ผู้ประกอบการศึกษาเทรนด์เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปพร้อมปรับธุรกิจรับกับความต้องการลูกค้า
"หากใครสามารถคาดเดาพฤติกรรมลูกค้าได้แม่นยำที่สุดจะเป็นคนที่ได้ประโยชน์และกลายเป็นผู้ชนะ ในที่สุด จะแพ้หรือชนะ ขึ้นอยู่ที่ใครสามารถทำสินค้าหรือบริการที่ถูกใจลูกค้าได้มากที่สุด"