เศรษฐกิจไทยส.ค. ชะลอต่อเนื่องท่องเที่ยวหดตัว-ลงทุนเอกชนสะดุดโควิด
สศค. ระบุเศรษฐกิจไทยเดือนส.ค. ชะลอตัวตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ปัจจัยหลักจากการระบาด พร้อมฉุดท่องเที่ยวติดลบ 92 % ด้านส่งออกยังเป็นพระเอกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่6
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า เศรษฐกิจไทย ส่งสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6" โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -35.0 และ -29.2 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงร้อยละ -19.0 และ -21.9 ตามลำดับ
สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -40.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงร้อยละ -26.2 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -6.8 ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.0
ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ร้อยละ -8.3 ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.6 ต่อปี
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี
โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัวร้อยละ 98.8 84.8 และ 48.4 ต่อปี ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เตาอบไมโครเวฟ โทรทัศน์และส่วนประกอบ
3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 17.8 และ 35.7 ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย จีน อาเซียน-5 และสหรัฐ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 44.2 32.3 26.9 และ 16.2 ต่อปี ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนสิงหาคม 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.8 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าวโพดและหมวดไม้ผล อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงที่ร้อยละ -0.7
สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.9 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 76.8 จากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนสิงหาคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) และอื่น ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 15,105 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตามโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" จำนวน 12,345 คน สำหรับการท่องเที่ยวของชาวไทย จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 893,565 คน ลดลงร้อยละ -92.0 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายพื้นที่
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.02 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.45 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารสด อาทิ ข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้สดปรับตัวลดลง รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.07 ต่อปี
ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.6 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 252.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ