“บีทีเอส” เปิดศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ฟ้องศาลปมหนี้ค่าเดินรถ 1.2 หมื่นล้าน

“บีทีเอส” เปิดศึกรถไฟฟ้าสายสีเขียว ฟ้องศาลปมหนี้ค่าเดินรถ 1.2 หมื่นล้าน

“บีทีเอส” ยื่นฟ้อง กทม. จ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้านบาท รับแบกภาระเป็นเหตุต้องกู้เงินหนุนธุรกิจ “ศักดิ์สยาม” สั่งลุยประมูลสายสีส้ม ไม่ต้องรอศาลอาญาพิจารณาคดี

การพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ยืดเยื้อมามากกว่า 2 ปี นับจากที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์และการต่อสัญญา

ทั้งนี้ การเจรจาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ได้นำภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานครจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายระยะที่ 1 สะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง รวมถึงระยะที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พร้อมกับภาระหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) มาร่วมพิจารณาด้วย โดยมีหนี้ถึงปัจจุบันประมาณ 32,000 ล้านบาท

ในขณะที่ร่างต่อสัญญาสัมปทานไม่มีความคืบหน้าในการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินั้น บีทีเอสได้ติดตามภาระหนี้จากกระทรวงมหาดไทยมาอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การการร้องศาลปกครองเพื่อใช้สิทธิทางกฎหมาย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บีทีเอสได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายฟ้องต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยศาลปกครองรับคำฟ้องเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 และปัจจุบันอยู่ขั้นตอนให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จัดทำคำชี้แจง

สำหรับภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบีทีเอส แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 จนถึงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 12,000 ล้านบาท

2.หนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ประมาณ 20,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การยื่นคำฟ้องครั้งนี้ครอบคลุมเฉพาะหนี้สัญญาจ้างเดินรถ วงเงิน 12,000 ล้านบาท ขณะที่สัญญาติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรวบรวมเอกสาร เตรียมยื่นคำฟ้องให้ชำระหนี้อีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งบีทีเอสยอมรับว่าการค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าวที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาทนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้บีทีเอสจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำมาบริหารจัดการ

“ตอนนี้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายยังเปิดให้ใช้ฟรี ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากทาง กทม. ซึ่งการจะเก็บค่าโดยสารหรือไม่นั้น ไม่ใช่อำนาจของบีทีเอส ดังนั้นจะมีการเก็บค่าโดยสารเมื่อไหร่อย่างไร เป็นอำนาจของกรุงเทพมหานครที่ต้องกำหนด

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากการติดตามการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 ทราบว่าสภากรุงเทพมหานครปฏิเสธการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครมาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหาร 3 ทางเลือก ประกอบด้วย

1.การขอให้รัฐบาลสนับสนุน

2.การเปิดร่วมลงทุนกับเอกชนตามแนวทางของคำสั่ง คสช.

3.การโอนโครงการคืนกลับให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริหารจัดการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับการติดต่อจากทางกรุงเทพมหานครหรือบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหา

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยระบุว่า ที่ผ่านมา บีทีเอสซีได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังผู้แทน 7 หน่วยงานรัฐที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 อาทิ กรรมการผู้แทนสำนักงบประมาณ, เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก, ผู้แทนกระทรวงคมนาคม, ผู้แทนสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และผู้แทนสำนักอัยการสูงสุด

สำหรับรายละเอียดจดหมายเปิดผนึก ระบุถึง ปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ก่อนหน้านี้ มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือกโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและดำเนินการขัดมติ ครม.ที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนผู้ชนะการคัดเลือกที่รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับเงินสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด

“เราไม่อยากให้โครงการล่าช้า แต่อยากให้ดำเนินการเปิดประมูลโครงการเร็วที่สุด โปร่งใส ยุติธรรมตามกฎกติกา ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานต่อโครงการอื่นๆ”

ส่วนกรณีหาก รฟม.เดินหน้าประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาในด้านเทคนิคและราคานั้น บีทีเอสคงต้องขอพิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ก่อนจึงจะตอบได้ว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีโครงการใดใช้วิธีการประมูลพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคแบบนี้มาก่อน ในส่วนของโครงการลักษณะอื่นที่เคยใช้เกณฑ์นี้ โดยปกติก็มักจะมีการประกาศเกณฑ์ก่อนยื่นซอง และต้องมีความชัดเจนในการให้คะแนนทางด้านเทคนิคเปิดเผยก่อนยื่นข้อเสนอ

ขณะที่การฟ้องร้องตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ขณะนี้ศาลได้นัดทั้ง 2 ฝ่าย คือ บีทีเอส ผู้ฟ้อง และผู้ว่า รฟม. กับคณะกรรมการตามมาตรา 36 ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งในส่วนของบีทีเอสได้ให้ข้อมูลต่อศาลครบถ้วนแล้ว เหลือแต่ฝั่ง รฟม. หากเอกสารครบถ้วนในวันที่ 25 ต.ค. ศาลจะนัดวันไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้ง โดยบีทีเอสยืนยัน ต้องการให้ รฟม.ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมติ ครม. ซึ่งเข้าใจว่า ครม.ให้ใช้เกณฑ์ราคาพิจารณา

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอการตัดสินของศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง เนื่องจากคดีฟ้องร้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นการฟ้องร้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชุดเดิม แต่ได้ลาออกไปแล้ว และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้าไป ซึ่งการดำเนินการถ้ายึดตามระเบียบกฎหมาย มติ ครม. ก็เดินหน้าได้ ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือว่าล่าช้าไปแล้วกว่า 8 เดือน

ส่วนการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชุดใหม่เมื่อสัปดาห์ท่ี่ผ่านมา ที่มีบางส่วนต้องการให้ใช้เกณฑ์ราคาพิจารณา ไม่นำคะแนนด้านเทคนิคพิจารณานั้น ตนขอย้ำว่า การจะกลับไปใช้เกณฑ์คะแนนราคานั้น อย่าพูดว่ากลับมาใช้หรือไม่กลับมาใช้ ทั้งหมดต้องดูมติครม. ดูระเบียบกฎหมายเป็นหลัก และขณะนี้ รฟม.ยังไม่ได้รายงานเพิ่มเติมเข้ามา

รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า รฟม.มีกรอบดำเนินการประกวดราคารอบใหม่โดยกำหนดว่าจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการ ม.36 ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) หลังจากนั้นในเดือน ต.ค.จะขายซองเอกสาร ให้เวลาเอกชนจัดทำข้อเสนอประมาณ 90 วัน และเปิดให้ยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน ม.ค.2565 คาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองกับเอกชนที่ยื่นข้อเสนอเป็นประโยชน์กับ รฟม.และโครงการราว 3 เดือน และเสนอ ครม.เห็นชอบผลการประกวดราคาในเดือน เม.ย.2565

สำหรับภาพรวมโครงการ เนื่องจากการประกวดราคารอบใหม่นี้ รฟม.จะปรับแก้ข้อกำหนดกรอบเวลาก่อสร้างโครงการให้สั้นลง เพื่อเร่งรัดการให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถเปิดเดินรถช่วงตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ต้นปี 2568และเปิดเดินรถทั้งสายในช่วงไตรมาส 3 ปี 2570

ทั้งนี้ การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความล่าช้ามากว่า 1 ปี หลังจาก รฟม.ประกาศขายซองประมูลครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 และประกาศยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ซึ่งระหว่างการประมูลมีการฟ้องร้องต่อศาลหลังจากมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาประมูลภายหลังการขายซองไปแล้ว โดยปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอจากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน