‘ทีเส็บ’ ปลุกอุตสาหกรรมไมซ์ ชง ศบค.ปลดล็อกงานประชุม
“ทีเส็บ” เดินหน้าปลุกอุตสาหกรรมไมซ์กระตุ้นเศรษฐกิจ จ่อชง “ศบค.” พิจารณาผ่อนปรนจัดงานประชุม สัมมนา นิทรรศการ และแสดงสินค้า “3 เฟส” ประเดิม ต.ค. 200-500 คน ขยับเป็น 500-1,000 คน พ.ย. ก่อนปลดล็อกจัดงานแบบไม่จำกัดจำนวนคน ธ.ค.เป็นต้นไป
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อนุมัติให้จังหวัดสีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจัดกิจกรรมหรือจัดประชุมได้ไม่เกิน 25 คน ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือจังหวัดสีแดงสามารถจัดประชุมได้ไม่เกิน 50 คน ส่วนจังหวัดสีส้มซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมจัดได้ไม่เกิน 100 คน และยังไม่ให้เปิดดำเนินการศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ โดยให้ติดตามสถานการณ์ก่อน 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่ และมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
ในระหว่างนี้ ทีเส็บ จึงยื่นข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐพิจารณาอนุญาตจัดงานประชุม สัมมนา งานนิทรรศการ และงานแสดงสินค้า ได้ 200-500 คนภายในเดือน ต.ค.นี้ เพิ่มเป็น 500-1,000 คนภายใน พ.ย. และไม่จำกัดจำนวนคนในเดือน ธ.ค. โดยงานแสดงสินค้าจะจำกัด 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หากได้รับการอนุมัติทัน จะมีการจัดงานเฟอร์นิเจอร์ แอนด์ ลิฟวิ่ง เป็นงานแรกวันที่ 1-14 ต.ค.นี้
“ข้อเสนอดังกล่าวต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการวิชาการทางด้านสาธารณสุข และผ่านความเห็นชอบของ ศบค. รวมทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อน”
พร้อมกันนี้ ทีเส็บเตรียมกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และจัดแสดงสินค้า) วางแผนขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน ภายใต้กลยุทธ์การเสริมความแกร่งระดับชาติ เมื่อประเทศมีความพร้อม และ ศบค.อนุญาตให้มีการจัดงานแสดงสินค้าได้ จะสามารถเดินหน้าจัดงานแสดงสินค้าในประเทศทุกภูมิภาคซึ่งมีแผนการจัดงานประจำปีอยู่แล้วได้ทันที
“ทีเส็บมองว่าการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศเป็นแพลตฟอร์มเจรจาธุรกิจที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น จึงเตรียมส่งเสริมการจัดงานในจังหวัดและเมืองไมซ์ที่มีศักยภาพ พร้อมกระจายการจัดงานสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดงานแสดงสินค้าแบบธุรกิจต่อธุรกิจหรือ B2B เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการจัดงานแสดงสินค้าก่อให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจในระยะเวลาอันสั้น”
สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้า จะมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ทั้งการสนับสนุนงานแสดงสินค้าใหม่และการยกระดับงานแสดงสินค้าเดิม มุ่งเน้นงานใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงกลุ่มดิจิทัลเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 4.กลุ่มพลังงานทางเลือก รถยนต์ โลจิสติกส์ และคลังสินค้า 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม สินค้าและบริการที่มีศักยภาพของภูมิภาค
นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าปฏิบัติตามมาตรการปกติใหม่ (New Normal) ในปีที่ผ่านมายังเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมจากมาตรการเพิ่มเติมในสถานการณ์ปัจจุบัน กลายเป็นมาตรการปกติปัจจุบัน (Now Normal) และจะอยู่กับเราไปอีกระยะยาว เพื่อให้กิจการและกิจกรรมของอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าของไทยสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างกลมกลืน
“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องดำเนินต่อไป การจัดงานแสดงสินค้า หรือการประชุมต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นยังต้องทำหน้าที่ต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์โควิดจะหมดไปหรือไม่ก็ตาม"
สมาคมฯ ได้วางแนวทางให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมต่อไปได้อย่างปลอดภัยด้วยมาตรการปกติปัจจุบัน พร้อมนำนวัตกรรมและวิทยาการด้านดิจิทัลมาเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่จะผลักดันอุตสาหกรรมการแสดงสินค้ากลับมาทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยต่อไปได้อย่างสมบูรณ์