ประมูลสายสีส้มยังไร้ข้อสรุป หลัง ‘ดีเลย์’ 8 เดือน

ประมูลสายสีส้มยังไร้ข้อสรุป หลัง ‘ดีเลย์’ 8 เดือน

การประชุมคณะกรรมการมาตรา 36 ชุดใหม่นัดแรกยังไม่ได้ข้อสรุป เหตุสคร.ต้องส่งผู้แทนตามข้อตกลงคุณธรรมร่วมตรวจสอบทีโออาร์ ก่อนนัดประชุมรอบต่อไป ห่วงโครงการล่าช้ากว่าแผน

 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชุดใหม่ ที่มีนายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วิศวกรรมและก่อสร้าง เป็นประธานนัดแรก ยังไม่ได้มีการหารือถึงรายละเอียดเงื่อนไขทีโออาร์ที่จะใช้ในการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ เนื่องจากยังติดปัญหาที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยังไม่ส่งผู้แทนจากข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาร่วมประชุม ดังนั้นผู้แทนสคร.จึงรับที่ดำเนินการหาผู้แทนตามข้อตกลงคุณธรรมต่อไป 

ทั้งนี้ หากสคร.ดำเนินการหาผู้เข้าร่วมตามข้อตกลงคุณธรรมได้เร็ว ก็จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการตามมาตรา 36 รอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมหลายรอบ เพื่อพิจารณาเงื่อนไขทีโออาร์ ที่จะต้องนำมาพิจารณาทั้งเงื่อนไขทีโออาร์เดิมที่กำหนดใช้เกณฑ์พิจารณาราคาเป็นหลัก กับทีโออาร์ใหม่ที่กำหนดนำคะแนนเทคนิคมาพิจารณาควบคู่กับราคา ซึ่งต้องดูว่าเกณฑ์ไหนให้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด รวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินด้วย 

“เรื่องเงื่อนไขทีโออาร์ที่จะใช้ในการประมูลรอบใหม่ ยังไม่ได้หารือกันว่าจะใช้เกณฑ์ใด และต้องหารืออีกหลายรอบ แต่ยังยึดหลักประโยชน์ของประชาชน ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีคมนาคมให้ยึดหลักมติครม.นั้น ก็ต้องมาว่ากันในการประชุมรอบต่อไป แต่เข้าใจว่ามติครม.ไม่ได้กำหนดหรือล้วงลึกว่าต้องใช้ราคาอย่างเดียว” แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงกรณีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ฟ้องร้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 36 ชุดเดิม และผู้ว่ารฟม. นั้น ที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของการฟ้องร้องคณะกรรมการชุดเดิม แต่การดำเนินโครงการยังต้องเดินหน้าต่อไป เพราะขณะนี้โครงการล่าช้า และมีความเป็นห่วงว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มจะประสบปัญหา หากส่วนของตะวันตกไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนตะวันออกก็ไม่สามารถเปิดบริการให้กับประชาชนได้ เพราะเชื่อมโยงกัน

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ปัจจุบันล่าช้ากว่าแผนงานมาแล้วประมาณ 8 เดือน หลังจาก รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน โดยนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมกับคะแนนด้านราคา จากเดิมจะพิจารณาโดยใช้ข้อเสนอด้านราคาเป็นหลัก เพราะถือว่าทุกรายผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคมาแล้ว ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้กันโดยทั่วไปในการประมูลโครงการของรัฐ

การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว นำมาสู่การฟ้องร้องในหลายคดีซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2569