จบยุค ‘อะไรๆ ก็จีน’ ยักษ์ธุรกิจสหรัฐเมาหมัด เข้าขั้น ‘โคม่า’ หมดหวังกับตลาดจีนแล้ว ?

จบยุค ‘อะไรๆ ก็จีน’ ยักษ์ธุรกิจสหรัฐเมาหมัด เข้าขั้น ‘โคม่า’ หมดหวังกับตลาดจีนแล้ว ?

หมดหวังกับตลาดจีนแล้ว? บิ๊กแบรนด์โตลำบาก หลังเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้น-คนในประเทศหันอุดหนุนแบรนด์ท้องถิ่น กลิ่นชาตินิยมจีนมาแรงขึ้นเรื่อยๆ มองอนาคตปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเพิ่มขึ้น หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” หวนคืนบัลลังก์อีกครั้ง

KEY

POINTS

  • การเติบโตที่ลดน้อยถอยลงของยักษ์ธุรกิจในจีนดูท่าจะโคม่าไปอีกนาน ทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทุกวัน รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่จบลงง่ายๆ
  • รายงานจาก “The Economist” ระบุว่า ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายของบริษัทจากสหรัฐในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เว้นแม้กระทั่งบิ๊กแบรนด์อย่าง “Apple” หรือ “LVMH” ในขณะเดียวกันก็พบว่า บริษัทของจีนเองก็เผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนักด้วย
  • นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมองว่า ต่อไปบริษัทสัญชาติสหรัฐในจีนอาจกลายเป็น “ตัวประกัน” ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจ กระบวนการสอบสวน “Nvidia” ยักษ์ใหญ่ชิปโลก เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการโต้กลับของจีน

ระยะหลังมานี้กระแสข่าวตลาดจีนซบเซามีให้เห็นแทบทุกวัน แต่ที่ดูจะหนักหนาและออกอาการเด่นชัดที่สุดคงจะเป็นความเคลื่อนไหวของเชนกาแฟเงือกเขียวระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” (Starbucks) จากยอดขายที่ลดฮวบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หุ้นที่ร่วงลงกว่า 32% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า รวมถึงการเสียแชร์ให้กับ “ลัคอิน คอฟฟี่” (Luckin’ Coffee) เชนกาแฟท้องถิ่นที่เพิ่งเปิดมาเพียงได้ 7 ปี แต่กลับมีจำนวนสาขาแซงหน้าสตาร์บัคส์ที่เข้ามาทำตลาดในจีนเกือบ 3 ทศวรรษ

แม้ปัจจุบัน “สตาร์บัคส์” จะแก้เกมด้วยการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่กลางคัน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า เงือกเขียวจะฟื้นจากอาการโคม่าแต่อย่างใด เช่นเดียวกับ “Apple” ที่เคยออกมาเปรยว่า มีแผนย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ “เวียดนาม” หรือ “อินเดีย” ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการกลับมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ทำให้ “Apple” ยังต้องพึ่งพาโรงงานที่จีนกันต่อไป พร้อมกับยอดขายทรงๆ ทรุดๆ จากการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดสมาร์ทโฟนจีน

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับสองแบรนด์ยักษ์เท่านั้น แต่สำนักข่าว “The Economist” ยังระบุชัดว่า ความฝัน ความหวัง ของบริษัทตะวันตกที่มีฐานที่มั่นในจีนกำลังตกอยู่ในสภาวะใกล้ตาย จากการแข่งขันที่รุนแรง ความตึงเครียดของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดีขึ้นดั่งใจปรารถนา รวมถึงความแหลมคมเรื่องความสามารถของบริษัทจีนที่ห้ำหั่นผ่านเกมราคาดุเดือดมากกว่าเดิม

จบยุค ‘อะไรๆ ก็จีน’ ยักษ์ธุรกิจสหรัฐเมาหมัด เข้าขั้น ‘โคม่า’ หมดหวังกับตลาดจีนแล้ว ?

จีนเคยเป็น “ความหวัง” แต่ตอนนี้เป็นเพียง “ฝันลมๆ แล้งๆ”

ไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้ “จีน” เคยเป็นหมุดหมายของยักษ์ใหญ่ระดับโลก ด้วยขนาดเศรษฐกิจและกำลังซื้อมหาศาล “จีน” จึงไม่ได้อยู่ในสถานะโรงงานผลิตสินค้าราคาถูกเท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตด้วย รายงานจากสำนักข่าว “The Economist” ระบุว่า ปี 2564 บริษัทข้ามชาติทั้งฝั่งยุโรปและสหรัฐในจีน มียอดขายรวมกันสูงถึง 670,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราวๆ “22.9 ล้านล้านบาท” คิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทเหล่านั้น

ทว่า ปี 2566 ยอดขายกลับลดลงเหลือ 650,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว “22.2 ล้านล้านบาท” คิดเป็นสัดส่วน 14% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ส่วนในปีนี้ก็พบว่า ยอดขายรายไตรมาสลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในจำนวนบริษัทข้ามชาติที่ว่านี้ มีตั้งแต่ “Apple” “Volkswagen” “Starbucks” ไปจนถึงอาณาจักรลักชัวรีเบอร์ 1 ของโลก “LVMH” ที่ล้วนเผชิญกับวิกฤติยอดขายร่วงกันถ้วนหน้า

บ้างก็บอกว่า ยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ในจีนได้ผ่านพ้นไปแล้ว แม้ว่า ขณะเดียวกัน “Eli Lilly” (อีไล ลิลลี) บริษัทผลิตยารายใหญ่จากสหรัฐจะสยายปีกในจีนได้อย่างสวยงาม แต่ก็พบว่า แบรนด์เองก็มีส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศอยู่ไม่น้อย

ปัจจัยภายในที่ว่าก็มาจากโดมิโนเศรษฐกิจซบเซา จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยดิ่งเหวทั้งประเทศ สะเทือนไปยังผู้บริโภคที่ต้องรัดเข็มขัดมากขึ้น มากไปกว่านั้น คือนโยบายทางเศรษฐกิจที่แสนจะรัดกุมของรัฐบาล

โดยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 เพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่สำคัญมากๆ ต่อฉากทัศน์ต่อไปของเศรษฐกิจจีน นั่นคือการเปลี่ยนจากนโยบายแบบ “Prudent” ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2554 สู่ “Moderately loose” หรือนโยบายแบบหลวมปานกลาง โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ครัวเรือนและภาคธุรกิจใช้จ่ายกันมากขึ้น

จบยุค ‘อะไรๆ ก็จีน’ ยักษ์ธุรกิจสหรัฐเมาหมัด เข้าขั้น ‘โคม่า’ หมดหวังกับตลาดจีนแล้ว ? -สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน-

ถ้อยแถลงจากการประชุม “โปลิตบูโร” (Politburo) การประชุมของผู้บริหารระดับสูงในจีน ระบุว่า เศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย ตลาดอสังหาฯ ยังอยู่ในช่วงซบเซา อัตราการว่างงานก็ยังน่ากังวล จากที่เคยคาดการณ์ว่า จะฟื้นตัวหลังการระบาดใหญ่จบลงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลังจากนี้จะมีการพลิกดูรายละเอียดการใช้จ่ายของภาครัฐเข้มงวดมากขึ้น และจะมีการพิจารณาการให้กู้ยืมเพื่อกระตุ้นภาคการบริโภคด้วย

อย่างไรก็ตาม “จีน” ที่เคยเป็น “ความหวัง” ไม่ได้กระทบเพียงบริษัทข้ามชาติ แต่ยังกระทบกับบริษัทของจีนเองด้วย “ป๋อ เจิ้งหยวน” (Bo Zhengyuan) ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในกรุงปักกิ่งให้ข้อมูลว่า 27% ของภาคอุตสาหกรรมในจีนกำลังขาดทุนอย่างล้นหลาม โดยเป็นตัวเลขเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สะเทือนทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ อันนำไปสู่สงครามราคาที่ปะทุความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

เสียส่วนแบ่งเพราะจีนเก่งขึ้น ซ้ำร้ายยังเป็น “ตัวประกัน” ท่ามกลางความขัดแย้ง

การแข่งขันในจีนรุนแรงถึงขนาดที่ “ไบรอัน นิคโคล” (Brian Niccol) ผู้บริหารคนใหม่ของสตาร์บัคส์ เคยออกมายอมรับกับนักลงทุนอย่างตรงไปตรงมาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากที่เคยถือสัดส่วนในตลาดกาแฟจีนมากจนสบายตัว มาวันนี้กลับถูกชิงแชร์จนน่าหวั่นใจ บางกระแสข่าวถึงกับระบุว่า ในอนาคตอันใกล้ “สตาร์บัคส์” อาจมีการพิจารณาขายหุ้นให้กับพาร์ทเนอร์ธุรกิจในท้องถิ่นด้วย

อีกปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และน่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่ทำให้บริษัทตะวันตกต้องคิดทบทวนอย่างหนัก คือความได้เปรียบทางเทคโนโลยีที่วันนี้ “พญาอินทรี” ไม่ได้ถือครองนวัตกรรมเพียงคนเดียวแล้ว ปัจจุบัน “จีน” คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ในฐานะผู้ผลิตหุ่นยนต์ให้กับตลาดในประเทศเกือบๆ 50% เทียบเคียงกับปี 2563 ที่บริษัทจีนครองสัดส่วนในตลาดราวๆ 33% 

จบยุค ‘อะไรๆ ก็จีน’ ยักษ์ธุรกิจสหรัฐเมาหมัด เข้าขั้น ‘โคม่า’ หมดหวังกับตลาดจีนแล้ว ?

ฟากฝั่ง “Apple” ก็ถูกท้าชนจาก “Huawei” (หัวเว่ย) รวมถึงแบรนด์จีนเกิดใหม่มากหน้าหลายตา ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ก็อย่างที่เราเห็นกันว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาต่ำกว่ารถยนต์จากค่ายยุโรปและสหรัฐ แถมยังเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่คนในท้องถิ่นพึงปรารถนา

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจากสหรัฐมองว่า ต่อไปบริษัทสัญชาติสหรัฐในจีนอาจกลายเป็น “ตัวประกัน” ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจ เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างสร้างข้อจำกัดทางธุรกิจเพื่อบีบให้อีกฝ่ายหายใจยากมากขึ้นเรื่อยๆ กระบวนการสอบสวน “Nvidia” ยักษ์ใหญ่ชิปโลก เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการโต้กลับของจีน

ในขณะที่ “ทรัมป์” อาจเลือกโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากจีน ฝั่ง “สี จิ้นผิง” ก็อาจส่งสารด้วยการทำให้บริษัทสหรัฐในจีนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากขึ้น ศึกครั้งนี้ดำเนินเรื่อยมาและยังดำเนินต่อไป แต่ใครที่จะเป็นคนเจ็บหนักที่สุดในเรื่องนี้ เห็นจะเป็นฝั่งเอกชนที่ต้องติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ส่อแววว่า คงไม่มีทางสิ้นสุดในเร็ววันเป็นแน่

 

อ้างอิง: China DailyCNNSouth China Morning PostThe EconomistYahoo Finance