คิกออฟ “ออโตเมชันพาร์ค” ดันญี่ปุ่นลงทุนระบบอัตโนมัติ

คิกออฟ “ออโตเมชันพาร์ค”  ดันญี่ปุ่นลงทุนระบบอัตโนมัติ

การผลักดันอีอีซีเป็นการยกระดับภาคการผลิต โดยเฉพาะการระหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงาน ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 3 ปี ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในอีอีซี 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นกำลังเข้ามาร่วมพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันอออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่ม คือ การยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยความก้าวหน้าของการเดินหน้าโครงการ “อีอีซีออโตเมชั่นพาร์ค”ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นแล้วกำลังเข้าสู่ระยะที่2 ที่จะเริ่มดำเนินการได้อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ต.คที่จะเป็นการผลักดันให้ภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตได้จริง 

ทั้งนี้โครงการนี้นำโดย บริษัทมิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิตเกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงในอีอีซีดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก

รวมทั้งคาดว่าการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดลงทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในอีอีซีไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงานยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย

อภิชาต ทองอยู่ประธาน คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC) กล่าวว่า EEC HDC ได้เชื่อมโยงการพัฒนาบุคลากร ตามแนวทางสร้างคนให้ตรงกับงาน หรือ EEC Modelซึ่งความร่วมมือฯ ครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรใน อีอีซี (New, Up, Re -Skill) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายรวมภายใน 3 ปี ผลิตไม่น้อยกว่า 120,000 คน

โดยเป็นบุคลากรรองรับด้านดิจิทัล 5G ในพื้นที่ให้ได้ 50,000 คน ส่วนโรงงานที่จะเข้ามาร่วมให้ได้ครบ 10,000 แห่งถือเป็นเป้าหมายระยะกลางที่มองว่าสามารถที่จะไปถึงได้เพราะผู้ประกอบการจะพร้อมจะมีลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และความพร้อมของเทคโนโลยีที่มีความพร้อมในพื้นที่ 

 

วิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การร่วมจัดทำ EEC Automation Park ได้นำระบบสายการผลิตอัจฉริยะ หรือ e-F@ctory เข้ามาใช้ในการสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมใช้นวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาระบบ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) ที่จะเป็นเครืองมือประเมินระดับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในโรงงาน เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนของผู้บริหาร โดยจะแสดงวัตถุประสงค์ ทิศทางการพัฒนา และผลที่จะได้รับจากการลงทุนในแต่ละขั้นตอน นำมาใช้ในการประเมินระดับความสามารถ ในการผลิตแบบดิจิทัล 

รวมทั้งให้เกิดมาตรการควบคุมลดการใช้พลังงานในไลน์การผลิต และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ทั้งด้าน IT (Information Technology) และด้าน OT (Operation Technology) มาใช้ระบบ Factory Automation เพิ่มความยืดหยุ่นในการนำไปใช้งานได้อย่างเสถียร และ Real Time ได้อย่างแท้จริง รองรับการขยายตัว ของอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 อย่างยั่งยืน 

 

ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากร สกพอ. กล่าวว่า EEC Automation Park จะยกระดับไปสู่ ศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร หรือ EEC-NET ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี จะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบสายการผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมในพื้นที่ อีอีซี 100% แล้วเพิ่มขึ้น เกิดบริการข้อมูลฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ในรูปแบบการจับคู่ทางธุรกิจ โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เกิด การนำไปใช้ได้จริง 

“EEC Automation Park จะสามารถฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทักษะด้าน Robotics & Automation ได้มากกว่า 25 หลักสูตร โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ปีละ 2,000 คน และภายใน 5 ปี ได้สูงถึง 15,000 คน ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูงต่อไป”

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า ผู้ประกอบการญี่ปุ่นพร้อมลงทุุนในอีอีซีเพิ่มเติม เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยี Robotic & Automation ที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตในลักษณะของสมาร์ทแฟคตอรี่ ทั้งนี้ JETRO ได้ตั้งเว็บไซต์พิเศษ เพื่อแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร

รวมทั้งได้ร่วมกับอีอีซีจัดสัมมนาและประชุมออนไลน์สร้างโอกาสการลงทุนขึ้นจริงเพื่อจับคู่ทางธุรกิจระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและไทยแล้ว 50 บริษัท การจัดประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ทางธุรกิจร่วมกันกว่า 60 ครั้งซึ่งประเทศญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านทางภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Robotic & Automation ที่ EEC Automation Park จะเป็นฐานความร่วมมือสำคัญ พัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0 และการพัฒนาทักษะบุคลากรร่วมกัน