พาณิชย์กระตุกท้องถิ่นกำหนดเพดานราคาเก็บขยะติดเชื้อ

พาณิชย์กระตุกท้องถิ่นกำหนดเพดานราคาเก็บขยะติดเชื้อ

โควิดทำปริมาณขยะติดเชื้อล้น พาณิชย์ ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สะกิด องค์กรปกครองท้องถิ่น ออกเรทราคาเก็บขยะให้เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ให้บริการและรับบริการ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปกติเป็นอย่างมาก   ซึ่งขยะติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากโรงพยาบาล และสถานที่กักตัวเฝ้าดูอาการผู้มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อทำให้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นและการจัดการขยะติดเชื้อก็เข้าสู่ภาวะวิกฤตด้วยเช่นกันจากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เดือนมิ.ย.มีปริมาณขยะติดเชื้อ 212.41 ตันต่อวัน ส่วนเดือนก.ค.จำนวน 275.72 ตันต่อวัน แต่หากนับเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯพบว่าในช่วง 6 เดือนคือตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย.ปี 2564  มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 11,393 ตัน หรือเฉลี่ย 63 ตัน/วัน และในเดือนส.ค. 2564 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 2 หมื่นคน ปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นถึง 100 ตัน/วัน

การที่ปริมาณขยะติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มที่มีการระบาดรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการเก็บขยะและดำเนินการการจำกัดขยะดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข   ทั้งนี้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทกำจัดขยะหลายห่าง หันมาเพิ่มการบริการขนส่งและกำจัดขยะติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ซึ่งจะให้บริการตามสถานที่ต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ฮอลพิเทล ศูนย์พักคอย โดยจะใช้วิธีการเผาทำลายในเตาเผาขยะติดเชื้อ  

บางรายมีอัตราค่าบริการอยู่ที่กก.ละ 40 บาท ปริมาณส่งกำจัดขั้นต่ำ 500 กก.ขึ้นไป แต่บางรายรับตั้งแต่ 1,000 กก.ขึ้นไป บางรายที่รับจ้างจัดเก็บขยะติดเชื้อจากที่ราคากิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาทก็ปรับขึ้นไปเป็นกก.ละ 12-13 บาท บางรายขึ้นไปถึง 50 บาท ส่งผลทำให้โรงพยาบาล สถานที่กักตัว โรงพยาบาลสนาม และเทศบาลต่างๆ เดือดร้อนมาก

พาณิชย์กระตุกท้องถิ่นกำหนดเพดานราคาเก็บขยะติดเชื้อ

 “ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน”ให้ข้อมูลว่า กรมการค้าภายในได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การบริหารจัดการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ รวมทั้งค่าบริการในการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่ปรับสูงขึ้นสูงกว่าเท่าตัว กรมการค้าภายในในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านราคาและปริมาณสินค้าและบริการ จำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  โดยกรมต้องการให้เทศบาลต่างๆ ที่ว่าจ้างบริษัทเอกชนมากำจัดขยะให้ กำหนดเพดานอัตราจัดเก็บให้ชัดเจน และเหมาะสม เพราะมีอำนาจที่จะเนินการได้ เพื่อไม่ให้บริษัทเอกชนฉวยโอกาสปรับขึ้นโดยไม่เป็นธรรม

ล่าสุดกรมการค้าภายในได้ประชุมร่วมกรมอนามัย  กระทรวงสาธรณสุข  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กระทรวงมหาดไทย) กรุงเทพมหานคร สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์บริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และบริษัทที่ให้บริการจัดการมูลฝอยติดเชื้อมาหารือเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการดังกล่าว

 จากการประชุมดังกล่าวทางกรมการค้าภายในได้ขอให้กรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำชับไปยัง อปท. เพื่อพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุดให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นค่าบริการจนสูงเกินสมควร ในขณะเดียวกันได้ขอให้บริษัทเอกชนที่ให้บริการเก็บ ขน และกำจัดขยะติดเชื้อ จัดเก็บค่าบริการไม่เกินอัตราที่ข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นแต่ละแห่งกำหนด และกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าบริการสูงขึ้น ก็ขอให้มีความสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ

การที่ให้อปท.เป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการ เป็นเพราะทั้งนี้พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาตรา 20 (5) ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรมอนามัย ได้ให้อำนาจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเก็บ ขน และกำจัดสร้างปฏิกูลหรือมูลฝอย รวมทั้งกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุด  แต่ปัจจุบันหลายเทศบาลไม่ได้กำหนดอัตราจัดเก็บที่ชัดเจน ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้กับบริษัทจำกัดขยะสามารถกำหนดกำหนดราคาค่าบริการเองได้ และจากข้อมูลของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินพบว่า   อปท.ทั้งหมด 71 แห่ง ไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บประเภทมูลฝอยที่เป็นพิษอันตรายจากชุมชน ทั้งที่เป็นการจัดเก็บที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติเนื่องจากต้องจัดเก็บและขนแยกจากขยะทั่วไป

 อย่างไรก็ตาม หากในระหว่างนี้ เทศบาล หรือโรงพยาบาล หรือผู้ประกอบการต่างๆ ถูกเรียกเก็บค่ากำจัดขยะติดเชื้อในราคาที่สูงขึ้นมาก สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมโทร.1569 หากพบว่า ปรับขึ้นราคาโดยไม่เป็นธรรมจริง จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 หรือสามารถร้องเรียนไปยังกรมอนามัยได้

การออกมาดำเนินการเรื่องนี้ถือเป็นการล้อมคอก และป้องกันการฉวยโอกาสปรับราคาการเก็บขยะติดเชื้อที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้นตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยืดเยื้อยาวนาน