เทรนด์ราคาน้ำมันโลกผันผวน เปิดแผนคุมดีเซล 30 บาท
เทรนด์ราคาน้ำมันโลกผันผวน จีนเล็งตุนเพิ่ม-สหรัฐฯ สต๊อกล้น ก.พลังงาน จ่อใช้กองทุนน้ำมันคุมสถานการณ์ หวั่นดีเซลทะลุ 30 บาท แนะประชาชนเติมดีเซล แทนบี7 ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอเลิกขาย E20 และ E85 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
หลังจากในรอบเดือนก.ย.2564 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในประเทศไทย มีการปรับขึ้นถึง 6 ครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลใกล้จะแตะ 30 บาท/ลิตร และเบนซินใกล้ทะลุ 40 บาท/ลิตรแล้ว โดยราคาที่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนี้ ในภาวะที่ประชาชนยากลำบากจากพิษโควิด-19 สิ่งของเครื่องใช้มีคาข้อนข้างสูงตามไปด้วย แต่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องตกงาน ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รัฐบาลรีบแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดเล็กน้อย หลังจีนจะสั่งซื้อน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ เนื่องจากขณะนี้จีนกำลังเผชิญวิกฤตพลังงานอย่างหนัก หลังจากรัฐบาลออกมาตรการให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าแบบหมุนเวียนกัน ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตของจีนที่หดตัวลงในเดือนก.ย.
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี หลังเฟดจะลดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ในเดือนพ.ย.3564
อีกทั้ง นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 ต.ค. โดยคาดว่าการประชุมดังกล่าวซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับแผนการด้านอุปทานนั้น จะมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ประกอบอุปสงค์ของอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
ในขณะที่ ราคาดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากส่งออกจากเอเชียเหนือที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ประกอบกับอุปสงค์ของเวียดนามและออสเตรเลียที่ปรับตัวดีขึ้น
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก รวมทั้ง ยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐอเมริกา ทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก อีกทั้ง กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ซึ่งหากเกิดกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (B10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ก็จะเข้าไปดูแลราคาอีกครั้ง โดยกระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ของราคาน้ำมันและราคาแอลพีจีในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนทันที หากราคาน้ำมันดีเซล (B10) มีราคาสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร จึงขอรณรงค์ให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซล หันมาเติมน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบี7 ถึง 3 บาทต่อลิตร
ขณะที่ นางสาวรสนา โตสิตระกูล คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า อยากเสนอให้ ยกเลิกการขายน้ำมัน E20 และ E85 ที่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนลิตรละ 2.20 บาท และ 7.13 บาท ตามลำดับนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ไม่ให้สูงจนเกินไป และลดภาษีสรรพสามิตลง 5 บาท
สำหรับสถานะการเงินของกองทุนน้ำมัน ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว ได้นำเงินกองทุนฯ ไปตรึงราคา LPD ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา เป็นเงิน 17,431 ล้านบาท คงเหลือเงิน 11,441 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่า หากยังคงนโยบายนี้ต่อไปจะต้องใช้เงินเดือนละ 1,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ รายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. ที่มีนายพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา เตรียมขยายกรอบการดูแลราคาแอลพีจีเป็น 2 หมื่นล้านบาท จากกรอบปัจจุบัน 18,000 ล้านบาท และเตรียมนำเงินจากเงินกู้ของรัฐบาลมาเติมเข้ากองทุนน้ำมัน โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ