สทนช.แจงใช้งบน้ำคุมค่า แก้ปัญหาแล้ง-ท่วมลดลง

สทนช.แจงใช้งบน้ำคุมค่า แก้ปัญหาแล้ง-ท่วมลดลง

งานเฉพาะกิจ วิ่งแซงโควิดเห็นจะเป็นปัญหาน้ำท่วม ที่รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน แม้จะมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อเป็นเจ้าภาพดูแลน้ำแบบเบ็ดเสร็จ แต่ปัญหาแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซาก ยังไม่จบไม่สิ้น

  สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำของรัฐบาลในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

ร้อนถึง สทนช. ต้องออกมาชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่น ทุ่มเท และให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน เห็นได้จาก ปี 2562 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปีที่แล้งรุนแรงเป็นลำดับที่ 2 รองจากปี 2558

 

ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 2562 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2563/64 มีการประกาศภัยแล้งเพียง 2 จังหวัด เท่านั้น

 

นอกจากนี้ การแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ยังทำให้ความเสียหายจากอุทกภัยลดน้อยลง สามารถป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน มีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท

 

จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งเป็นการร่วมกันดำเนินงานจากทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 3,347 แห่ง จาก 5,472 แห่ง สระน้ำในไร่นา 190.59 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม. )คิดเป็น 63% พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118.43 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 225 แห่ง และปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 181 แห่ง

 

มีแผนหลักในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขับเคลื่อนแล้วจำนวน 133 โครงการ จาก 526 โครงการ

 เช่น แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีความก้าวหน้า 32% เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะขับเคลื่อนได้ทั้งหมดภายในปี 2570 ซึ่งจะทำให้พื้นที่น้ำท่วมใน 17 จังหวัดลดลง จาก 9.31 ล้านไร่ คงเหลือ 3.05 ล้านไร่

 

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ขับเคลื่อนแล้ว 21 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567 จะได้น้ำเพิ่มขึ้น 114.20 ลบ.ม. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม 17 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 ได้น้ำเพิ่ม 556.80 ล้าน ลบ.ม.

 

การพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนบน การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 291,762 ล้านบาท เพิ่มความจุ 628.92 ล้าน ลบ.ม. ได้รับประโยชน์ 1.4 ล้านไร่ 262,386 ครัวเรือน บำบัดน้ำเสีย 1.27 ล้าน ลบ.ม./วัน

 

 “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้ตรวจสอบข้อมูล ความซ้ำซ้อนของแผนงานด้านน้ำ ได้กว่า 6หมื่นล้านบาท “