ORI เล็ง "สปินออฟ" บริษัทย่อยไม่ต่ำกว่า 8 บริษัท เข้าตลาดหุ้น
ภาครัฐออกนโยบายวางหลักประกันสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) และ กำลังซื้อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่หายไปจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) สารพัดปัจจัยลบ “กดดัน” เสน่ห์ของ “อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์” ให้ลดน้อยลง
แม้มีอัตราการจ่ายเงินปันผลระดับสูง แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบได้ ทว่า มุมมองของนักวิเคราะห์กลับชี้ว่า บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ยังน่าสนใจลงทุน จากการขยาย “ธุรกิจใหม่” (New Business) ที่นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์
“พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จนขึ้นแท่นเป็นบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ท็อป 5 ของอุตสาหกรรม และอีกไม่กี่ขั้นก็จะขึ้นเป็นท็อป 3 ซึ่งถือว่าที่ผ่านมาพอใจกับพัฒนาการของการเติบโต แต่เหนือสิ่งอื่นใดบริษัทยังมี “พละกำลังและแนวความคิดสร้างสรรค์ดีๆ” และที่สำคัญมีเงินทุน (กระแสเงินสด) เพียงพอต่อการขยายธุรกิจใหม่ที่เป็น “เทรนด์ของโลก” (Mega Trend) ที่สามารถเชื่อมต่อกับการให้บริการฐานลูกค้าเดิม
โดยมีเป้าหมายระยะสั้น สัดส่วนรายได้ธุรกิจอสังหาฯ อยู่ที่ 70-75% และธุรกิจใหม่ อยู่ที่ 25-30% แต่ในระยะยาว 5-7 ปีข้างหน้า คาดว่าสัดส่วนของ 2 กลุ่มธุรกิจจะปรับขึ้นมา “เท่ากัน” ในสัดส่วน 50:50
ปัจจุบัน ออริจิ้นฯ เป็นบริษัท โฮลดิ้ง คอมพานี มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจหลัก และ มีกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์เข้ามาเป็นธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” (New S-Curve) เพราะว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในกระแสการเติบโตหลักของโลก อาทิ ธุรกิจโลจิสติกส์ , ธุรกิจการแพทย์ , ธุรกิจบริหารหนี้ (AMC) , ธุรกิจพลังงาน และ ธุรกิจประกัน
สะท้อนผ่านการจับมือเป็นพันธมิตร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เพื่อขยายการลงทุนเข้าไปในธุรกิจโลจิสติกส์ โดยจัดตั้ง บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมพร้อมบริการครบวงจร ภายใต้แบรนด์ แอลฟา (ALPHA) ในสัดส่วนถือหุ้น 50:50, ธุรกิจการแพทย์ จัดตั้ง บริษัท ออริจิ้น เฮลท์แคร์ จำกัด เพื่อดำเนินกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ โดยบริษัทถือหุ้น 40%
ธุรกิจบริหารหนี้ จัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ พรอมมิเนนท์ จำกัด (PAM) และปัจจุบันอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ, ธุรกิจพลังงาน ร่วมมือกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท ออริจิ้น กันกุล เอ็นเนอร์ยี จำกัด เพื่อร่วมพัฒนาและลงทุนในโครงการขายไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และ Parity Energy Trading ในคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรร โดยบริษัทถือหุ้น 49.99%
ส่วนธุรกิจประกัน บริษัทจัดตั้ง บริษัท พรีโม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันภัย โดยเริ่มจากธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยคอนโดมิเนียม และประกันภัยบ้าน ก่อนจะขยายไปยังประกันชีวิตในปี 2565 ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตประกันวินาศภัยจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และได้เริ่มธุรกิจตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ เพื่อขยายการเติบโตของกลุ่มธุรกิจภายใต้โฮลดิ้ง บริษัทเตรียมนำบริษัทย่อยอย่างน้อย 8 บริษัท เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Spin-off) ได้แก่ 1. บมจ.บริทาเนีย (BRI) ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นแบบแสดงข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 252.65 ล้านหุ้น หรือ 29.60% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท
ทั้งนี้ BRI จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมริมทรัพย์และการก่อสร้าง หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ราคาที่ตราไว้ (ราคาพาร์) 0.50 บาท โดยมี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
2. บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ประกอบธุรกิจสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจพัฒนาและบริหารโรงแรม อาคารสำนักงาน และอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (Mixed-use) และธุรกิจบริการ ปัจจุบันตั้ง บล.ไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงมีแผนจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) ในระยะถัดไป 3. บริษัท ยูไนเต็ด โปรเจคต์ แมเนจเมนท์ จำกัด (UPM) ประกอบธุรกิจบริหารงานโครงการ (Project Management) และบริหารงานก่อสร้าง (Construction Management) คาดว่าจะนำเข้าระดมทุนภายในปี 2566
4. บริษัท พรีโม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด คาดว่าจะนำเข้าระดมทุนภายในปี 2567 5. บริษัท แอลฟา อินดัสเทรียล โซลูชั่น จำกัด มีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 รวมถึงแผนจัดตั้งกองรีท 6. บริษัท บริหารสินทรัพย์ พรอมมิเนนท์ จำกัด คาดว่าจะพิจารณา Spin-off ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป 7. บริษัท แฮมป์ตัน โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ จำกัด (HHR) ประกอบธุรกิจบริหารโรงแรมทั้งในและนอกเครือของ ORI คาดว่าจะนำเข้าระดมทุนภายในปี 2569 และ 8. บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจบริการ คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งและเข้าระดมทุนปลายปี 2565
“แนวคิดการ Spin-off มาจากการที่บริษัทประสบความสำเร็จจากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 6 ปีที่แล้ว โดยตัวแรกที่จะ Spin-off คือ BRI และยังมีแผนนำตัวอื่นๆ เข้าตลาดหุ้นต่อเนื่อง นอกเหนือจากข้อดีที่ได้จากการระดมทุนแล้ว ยังช่วยสร้างความเป็นมืออาชีพ และสามารถเปรียบเทียบตัวเองกับธุรกิจเดียวกันในหมวดหมู่นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจที่ปั้นขึ้นมาใหม่เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน”
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2564 คาดว่ารายได้และยอดขายจะเติบโตตามเป้าหมายที่ 1.4 หมื่นล้านบาท และ 2.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ภายหลัง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2564) มียอดขายสะสมแล้วกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และมียอดขายรอการโอน (Backlog) อีกราว 4 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือของปี 2564 บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่อีก 9 โครงการ มูลค่าราว 6.3 พันล้านบาท โดยคาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2564 ผลการดำเนินงานจะดีต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น และการเปิดประเทศ