สหภาพการรถไฟฯ ร้องรัฐบาลพิจารณาปมละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน
สหภาพรถไฟฯ ร้อง "นายก" จี้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ปมถูกกล่าวหาละทิ้งงานจากการทำกิจกรรมรณรงค์
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เรียกร้องนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานที่เกิดกับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 13 คน โดยข้อร้องเรียนดังกล่าว ประกอบด้วย
1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณี “พี่น้องกรรมการ สร.รฟท. ถูกกล่าวหาละทิ้งงานจากการทำกิจกรรมรณรงค์ เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟเพื่อประโยชน์แก่ผู้โดยสาร”
2.รายงาน Case No. 3022: Complaint against the Government of Thailand ของคณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม (Committee of Freedom of Association: CFA) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)
3.คำสั่งเฉพาะที่ รฟ.ชก.1000/1120/2564 เรื่องให้พนักงานสังกัดศูนย์ซ่อมบำรุงด้านลากเลื่อน ฝ่ายการช่างกลออกจากงานไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณา
ทั้งนี้ ความเป็นมาตามที่อ้างถึง 1 และ 2 อุบัติเหตุรถไฟตกรางที่บริเวณเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 คนและบาดเจ็บ 84 ราย และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเงินกว่า 209 ล้านบาท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ในขณะนั้น ได้มีมติทำกิจกรรมรณรงค์ให้พนักงาน รฟท. ตระหนักถึงการเดินรถไฟให้ปลอดภัย และเรียกร้องให้นายจ้างหรือ รฟท. ปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ที่ได้ยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจแรงงานสัมพันธ์ตั้งแต่ปี 2550-2552
ด้วยเหตุผลว่า ในช่วงเวลานั้น รฟท. มีงบประมาณที่จำกัด ขบวนรถไฟจึงขาดการบำรุงรักษา หัวรถจักรอยู่ในสภาพที่ชำรุด แต่ยังคงนำมาใช้เดินรถเพื่อให้บริการแก่ประชาชน จึงยื่นข้อเรียกร้องต่อ รฟท. ว่า ถ้าขบวนรถไฟไม่ว่าจะเป็นรถจักรหรือรถพ่วง ก่อนทำขบวนการรถไฟต้องทำการซ่อมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก่อนใช้งานดังนั้น ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 58(2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 กำหนดว่า “เมื่อสหภาพแรงงานปฏิบัติการ ชี้แจงหรือโฆษณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงาน หรือการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ให้สหภาพแรงงาน กรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการสหภาพแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่ง”
ในครั้งนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่ทำให้พนักงานหมดสติ ทั้ง 2 คนนั้น คือ ซีลยางกั้นระหว่างประตู (คล้ายกรอบยางประตูรถยนต์) ที่ทำหน้าที่กันเสียงกันฝุ่นกันไอต่างๆ มันฉีกขาด เลยทำให้แก๊สไอเสียจากห้องเครื่องยนต์ซึ่งอยู่ติดกันกับห้องขับของรถจักรเข้ามา และในวันดังกล่าวปรากฏว่ามีฝนตก หัวรถจักรไม่ได้ติดแอร์เหมือนรถยนต์ พนักงานจึงเอากระจกทั้ง 2 ข้างขึ้นเพื่อปิดกันฝนสาด ทำให้อากาศน้อยลง ห้องเครื่องยนต์ที่อากาศมีมากกว่าก็จะไหลเข้ามา พาไอเสียเข้ามาด้วย ส่งผลให้พนักงานทั้ง 2 คนหมดสติ หากเหตุการณ์ปกติเป็นไปได้ยากที่จะหมดสติพร้อมกันทั้ง 2 คน และที่สำคัญหัวรถจักรของรถไฟขบวนที่เกิดอุบัติเหตุไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างสมบูรณ์ ระบบห้ามล้ออัตโนมัติหรือระบบวิจิแลนด์ชำรุดไม่ทำงาน ซึ่งระบบนี้มีไว้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับการขับรถไฟ เมื่อเกิดเงื่อนไขที่พนักงานขับรถไฟหมดสติ ไม่ตอบสนองใดๆ ไม่กดปุ่ม ไม่ชักหวีด ไม่ใส่ห้ามล้อ ไม่ไปสัมผัสอะไรเลยภายในสองนาที ระบบนี้จะทำงานส่งสัญญาณให้รับรู้ว่า หัวรถจักรนั้นไร้การควบคุม ระบบห้ามล้อฉุกเฉินก็จะจับ รถไฟก็จะหยุดในทันที แต่อุบัติที่เกิดขึ้น พบว่าระบบนี้ใช้งานไม่ได้ มันชำรุด
ผลของอุบัติเหตุดังกล่าว ไม่พบการลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่รับผิดชอบในการเดินรถ ที่ปล่อยให้มีการนำหัวรถจักรที่ระบบห้ามล้ออัตโนมัติหรือระบบวิจิแลนด์ชำรุดไม่ทำงานออกมาให้บริการ แต่กลับมีการตอบโต้การทำกิจกรรมรณรงค์ของ สร.รฟท. ด้วยการ ออกคำสั่งลงโทษไล่ออกกรรมการ สร.รฟท. ปฏิบัติงานที่ อ.หาดใหญ่ จำนวน 6 คน และต่อมา มีการขออำนาจศาลในการเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท. เพิ่มอีก 7 คน ซึ่งทำหน้าที่กรรมการกิจการสัมพันธ์ฝ่ายลูกจ้าง
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีการฟ้องเป็นคดีที่ศาลแรงงานและศาลมีคำพิพากษาว่า มีการปฏิบัติในลักษณะที่เข้าไปยุยงมีความผิดให้ชดใช้ค่าเสียหาย 15 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลตัดสินก็ 25 ล้านบาท นอกจากการยื่นฟ้องเป็นคดีที่ศาลแรงงานแล้ว มีการกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ว่า กรรมการ สร.รฟท. ร่วมกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ร่วมกันละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใดๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกระทำเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งคณะกรรมการ ปปช. ได้รับเรื่องสอบสวน และลงมติเห็นชอบว่า การกระทำของกรรมการ สร.รฟท. จำนวน 13 คน มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ละทิ้งงานหรือกระทำการอย่างใดๆ เพื่อให้งานหยุดชะงักหรือเสียหาย โดยร่วมกระทำเช่นนั้นด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 166 สำนักงานอัยการสูงสุดจึงแต่งตั้งทนายเพื่อนำผลการสอบสวนของคณะกรรมการ ปปช. ไปฟ้องศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ล่าสุดศาลได้มีคำพิพากษาให้กรรมการ สร.รฟท. มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหาและให้ลงโทษ ขณะนี้ คดีอยู่ในระหว่างการขออุทธรณ์
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ สร.รฟท. พร้อมด้วยองค์กรแรงงานในระดับสากล คือ สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation: ITUC) และสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers’ Federation: ITF) ได้ยื่นหนังสือถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ร้องเรียนการที่รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิแรงงานด้วยการใช้ช่องทางกฎหมายต่างๆ มาดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพแรงงานที่ลุกขึ้นมารณรงค์ความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟให้มีความปลอดภัย เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารที่มาใช้บริการของ รฟท. และ รฟท. เอง ได้รับประโยชน์เช่นกัน ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล