WFH ฉุดยอด ’กินเจ’ คนกรุงเหลือ 3.6 พันล้าน

WFH ฉุดยอด ’กินเจ’ คนกรุงเหลือ 3.6 พันล้าน

แม้สถานการณ์โควิดและการเข้าถึงวัคซีนจะเริ่มมีสัญญาณบวก แต่สถานการณ์น้ำท่วมและราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยเฉพาะหน้ากระทบความเชื่อมั่น ฉุดรั้งกำลังซื้อ และอาจสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลาที่เทศกาลกินเจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีการใช้จ่ายตลอดเทศกาลอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% จากกินเจปีก่อน ซึ่งนอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน แม้ว่าผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการลดจำนวนวันในการกินเจลง สาเหตุสำคัญคือความไม่สะดวก เนื่องจาก Work From Home และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคย ทำให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางบริเวณสถานที่ทำงาน ทั้งแบบตักขายและนั่งทานในร้านได้รับผลกระทบ ขณะที่ร้านสะดวกซื้อและเดลิเวอรี่/ออนไลน์มีแนวโน้มที่คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายของสินค้า และบริการจัดส่งที่สะดวกขึ้น

มองไปข้างหน้า ด้วยพฤติกรรมของคนไทยในภาพรวมที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น จึงมีผู้บริโภคที่เริ่มหันมาบริโภคอาหารวีแกน และไม่ได้จำกัดเฉพาะเทศกาลกินเจเท่านั้น ทำให้คาดว่า โอกาสของตลาดอาหารวีแกนในไทยจะยังสามารถขยายตัวได้อีกในระยะข้างหน้า สะท้อนได้จากแนวโน้มสัดส่วนของประชากรไทยที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์น่าจะขยับขึ้นจาก 12.0% ในปี 2560 เป็น 15% ได้ภายในปี 2564 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และประมาณการปี 2564 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย) แต่การจะเพิ่มจำนวนผู้บริโภค รวมถึงอัตราการบริโภคได้มากหรือน้อยนั้น คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะในเรื่องของราคา รสชาติ ความหลากหลายของสินค้า ตลอดจนช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค​