“พลังงาน” ชง2พันล้านอุ้มแอลพีจี หารือสภาพัฒน์ ของบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน
นายกฯ สั่งกลางวง ครม.ดูแลราคาพลังงานไม่ให้กระทบประชาชน “สุพัฒน์พงษ์” ชี้ราคาสูงระยะสั้น กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอ “สภาพัฒน์” ขอใช้กู้เงิน 2 พันล้านบาท พยุงราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน 4 เดือน ชี้ เงื่อนไขเปิดทางใช้เงิน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (5 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจึงสั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงพลังงานพร้อมออกมาตรการดูแลราคาน้ำมันเต็มที่
ทั้งนี้ ทิศทางราคาเชื้อเพลิงอยู่ระดับสูงในระยะสั้น เพราะเป็นปัจจัยตามฤดูกาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นเช่นนี้อีก 3-4 เดือน และจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยกระทรวงพลังงานมีเครื่องมือดูแลราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพไม่ให้กระทบประชาชน ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีวงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง ยังเปิดช่องให้กองทุนฯ กู้สถาบันการเงินหรือกระทรวงการคลังเข้ามาดูแลได้
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้รายงานข้อมูลราคาน้ำมันให้ครม.ทราบ โดยระบุว่าเป็นความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เพราะหลายประเทศฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ ครม.เตรียมพร้อม และมีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจต่อการลงทุนและการบริโภค ซึ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นดีขึ้นและความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย
“กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ส่วนการดูแลเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น ราคาน้ำมันเบนซิน ก็ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ต่อไป” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นที่ต้องเข้ามาดูแลในส่วนของน้ำมันดีเซลบี 7 ซึ่งราคาทะลุไปถึง 30 กว่าบาทต่อลิตร โดยได้เชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้บี 10 แทนบี 7 ซึ่งมีราคาต่ำกว่า 30 บาท แต่ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะยังพบปัญหาทางเทคนิคในการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่ยังใช้บี 7 เหมือนเดิม จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล เพื่อพยายามผลักดันราคาให้ต่ำกว่า 30 บาทในราคาระดับเดียวกับบี 10 และการดำเนินการครั้งนี้แม้จะปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของดีเซลบี 7 แต่ในขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันยังมีอยู่ประมาณหมื่นกว่าล้านบาท และถ้าไม่เพียงพอสามารถกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้อีกได้
“สถานการณ์น้ำมันปัจจุบัน ประเมินว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าเมื่อวานนี้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะหารือกันเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวันเพื่อให้ราคาเกิดความคลี่คลายลงบ้าง ซึ่งช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งราคาที่เพิ่มขึ้นได้ในขณะนี้ โดยในประเทศไทยเองนั้นรัฐบาลก็ต้องเข้ามาดูแล โดยเฉพาะราคาดีเซลที่ประชาชนใช้กันมาก เพื่อให้ราคาลดลง” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 4 ต.ค.2564 ออกมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซล บี7 และบี 10 ที่มีรถยนต์ใช้ประมาณ 10 ล้านคัน รวมทั้งมีการหารือถึงการดูแลแอลพีจีภาคครัวเรือน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จำนวน 2,000 ล้านบาท มาดูแลแอลพีจี ซึ่งเบื้องต้นจะดูแล 4 เดือน (ต.ค.2564 ถึง ม.ค.2565) ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาแอลพีจีเดือนละ 1,480 ล้านบาท เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) โดยการช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเท่านั้นไม่รวมภาคขนส่ง
นายสมภพ กล่าวว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขึ้นราคา 6 ครั้งๆ ละ 40-60 สตางค์ต่อลิตร เพราะความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกสูงขึ้น โดยหลังจากนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวนจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากพายุในสหรัฐทำให้การผลิตน้ำมันต้องหยุดชะงัก ส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
"กระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานใกล้ชิด เพื่อเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนทั้งราคาแอลพีจีและการรักษาค่าเอฟทีในส่วนของค่าไฟฟ้า และดูแลเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลประโยชน์จากการผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผู้ผลิตยังส่งออกน้ำมันปาล์มได้อย่างต่อเนื่องและราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็ยังคงอยู่ในระดับราคาที่สูง”นายสมภพ กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การขอใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อลดบรรเทาค่าครองชีพให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพควรช่วยเหลือแอลพีจีภาคครัวเรือนเหมือนที่เคยมีการช่วยเหลือในระยะเวลาสั้น ส่วนการดูแลราคาน้ำมันไม่เข้าข่ายเพราะมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำหน้าที่อยู่แล้ว
ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่เรื่องนี้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้จะพิจารณาเฉพาะช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มในกรณีที่เสนอผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากการบริโภคภาคประชาชน ที่รัฐบาลใส่มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการคนละครึ่ง มาตรการเราเที่ยวด้วยกันและการใส่เงินในกระเป๋าประชาชน โดยยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเร่งพัฒนารถไฟรางคู่ให้เชื่อมรถไฟในประเทศลาว ภายใน 2 ปีครึ่งนับจากนี้
“โจทย์ในการบริหารจัดการเศรษบกิจภาพรวมของประเทศเปลี่ยนไป หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในไทยและทั่วโลก โดยรัฐบาลมีเป้าหมายขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2565 ให้ได้ 5% ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามพยุงเศรษฐกิจ และฟื้นฟูให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งให้คนตัวเล็กที่สุดให้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นพื้นฐาน ขณะนี้รัฐบาลช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้มากพอสมควร แต่ไม่เห็นความหวือหวาเศรษฐกิจไม่ได้โตอย่างที่หลายคนต้องการ แต่เศรษฐกิจเติบโตได้เท่ากับเมื่อ 2 ปีก่อนที่โควิด-19 จะระบาดถือว่าดีแล้ว เพราะงานอีกฝากหนึ่งคือรัฐบาลก็ยังต้องเร่งแก้ปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ทำเอาไว้หนี้สินที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ก่อ”
สำหรับความเชื่อมั่นการลงทุนของไทยเกิดขึ้นแล้ว โดยคำขอรับส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เติบโตขึ้นมาก แต่การขอรับการส่งเสริมบีโอไอไม่ได้แสดงออกให้เห็นในตัวเลขเศรษฐกิจทันที โดยต้องใช้เวลากว่าจะลงทุนจริงและต้องใช้เวลากว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เมื่อคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าไทยยังได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไม่น้อย
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ภาพรวมของประเทศค่อยเป็นค่อยไป เพียงแต่คนในประเทศเกิดความเชื่อมั่น นำเงินออมออกมาใช้จ่าย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาครัฐก็เดินหน้า ขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ประชาชนคนไทย ย่อมได้รับตามสิทธิที่พื้นฐานที่ควรได้