บอร์ดสสว.เล็งต่อยอดช่วยเอสเอ็มอี จูงใจบริษัทใหญ่ซื้อของรายย่อย
“บอร์ด สสว.”เดินหน้าโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้สู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต่อเนื่อง หลังทดลองนำร่องโครงการบิ๊กดาต้ามีเอสเอ็มอีเข้าร่วมกว่า 1 แสนราย สร้างยอดขายได้กว่า 5 แสนล้านบาท เล็งช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มเจาะตลาดกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วานนี้ (6 ต.ค.) ว่าที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ซึ่งผลการขึ้นทะเบียน ณ 29 กันยายน 2564 SME 10 จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา ปทุมธานี สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น เชียงราย สมุทรปราการ โดย SME ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และวิสาหกิจชุมชน รวมประมาณ 1 แสนราย มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างรวม 551,306 ล้านบาท
นอกจากนี้ สสว.ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำ SME Big Data/SME Master Data และโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign on ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ ปี 2564 (One Identification One SME – Phase I)
สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป ในปีงบประมาณ 2565 สสว. จะจัดให้มีโครงการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน สินค้า/บริการสำหรับผู้ประกอบการ SME และจะมีการต่อยอดมาตรการ/นโยบาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (corporate procurement) การลดหลักประกันสัญญา/หลักประกันซอง การเข้าถึงเงินทุน (สินเชื่อคู่ค้าภาครัฐ สินเชื่อแฟคตอริ่ง) การกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า และการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า
ที่ประชุมได้พิจารณาร่างแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ โดยที่ประชุมมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปปรับเพิ่มเติมร่างแผนฯ แล้วนำกลับเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ SME มีความเข้มแข็ง เพื่อให้ SME เดินหน้าต่อไปสู่ปี 2565 ให้ได้ โดยแนวทางการแก้ปัญหาให้กับ SME จะต้องขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางที่มีการจัดระเบียบครบถ้วน ตั้งเป้าเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้พลิกโฉมประเทศตามเป้าหมายระยะเวลาที่วางไว้
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่าในการทำงานต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มในลักษณะการพุ่งเป้า คือ 1. กลุ่ม SME เดิมที่มีความเข้มแข็ง ที่ต้องไปดูเรื่องการสร้างนวัตกรรม ให้กำลังเรื่องการวิจัยและพัฒนา หาก SME มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ ก็ควรมีการพิจารณามาตรการเชิงภาษีให้ความช่วยเหลือกับ SME ในกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเร่งรัดเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่นำมาสู่การผลิตให้มีมากขึ้น 2. กลุ่ม SME ที่มีการดำรงสภาพการจ้างงาน มีรายได้พอเพียง แต่กำไรไม่มากนัก ที่ต้องหาแนวทางให้สามารถดำรงสภาพการจ้างงานต่อไปได้ 3. SME ที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ที่ต้องหาแนวทางช่วยเหลือส่งเสริม โดยรัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“นายกฯย้ำว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาให้กับ SME ทุกกลุ่ม จะหาแนวทางช่วย SME ที่มีศักยภาพ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกับรัฐบาล เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้ โดยในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องโควิด การท่องเที่ยวและบริการ และจะพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด” นายธนกร กล่าว