GUNKUL วิ่งออลไทม์ไฮ “กัญชากัญชง” ช่วยเสริมเสน่ห์
ปีนี้ธุรกิจสายเขียวมาแรงจริงๆ หลังภาครัฐเริ่มปลดล็อกให้นำกัญชง กัญชา ใบกระท่อม มาใช้ประโยชน์ได้ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่น่าจับตามองทันที หลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประกาศพร้อมลงสนามเข้าสู่ธุรกิจใหม่กันอย่างคึกคัก
หนึ่งในนั้นมีบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่ขอข้ามห้วยจากธุรกิจไฟฟ้า เข้าสู่ธุรกิจสายเขียวแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หวังเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้ เสริมความแข็งแกร่งและยังช่วยกระจายความเสี่ยง
จนกลายเป็นสตอรี่ใหม่ช่วยจุดพลุราคาหุ้นGUNKUL พุ่งแรงติดจรวด เดินหน้าทำออลไทม์ไฮ ล่าสุด (8 ต.ค.) มาปิดที่ 5.60 บาท โดยปีนี้หุ้น GUNKUL ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 122% จากราคาปิดปี 2563 ที่ 2.52 บาท
สำหรับธุรกิจใหม่นี้บริษัทดูตั้งใจจริง ไม่ได้พูดแค่ลอยๆ หรือทำไปตามกระแสเท่านั้น โดยเตรียมงบลงทุนในธุรกิจกัญชงกัญชาในช่วง 2 ปี (2564-2565) ไว้ 2,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงเรือน 1,400 ล้านบาท ตั้งโรงสกัด 500 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 100 ล้านบาท
ด้วยความที่เป็นธุรกิจใหม่ และบริษัทไม่มีประสบการณ์มาก่อน จึงเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ โดยล่าสุดได้ทุ่มเงิน 250 ล้านบาท ส่งบริษัท จี.เค.เฮมพ์ กรุ๊ป จำกัด (GKHG) บริษัทย่อย เข้าถือหุ้นในบริษัท ทีเอชซีจี โฮลดิ้ง จำกัด (THCG) สัดส่วน 50% เพื่อลงทุนในกิจการที่เกี่ยวกับกัญชงกัญชา ตั้งแต่การเพาะปลูก จำหน่ายกัญชงกัญชา การผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้จากกัญชงกัญชา
โดย THCG เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจสายเขียวของประเทศ ทำธุรกิจกัญชามาตั้งแต่เริ่มให้มีการทดลองปลูกเมื่อปี 2563 โดยมีวิสาหกิจชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือหลายแห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนทุ่งแพม, วิสาหกิจชุมชนทุ่งนางแล, วิสาหกิจชุมชนเขาค้อ, มหาวิทยาลัยเทคโนโนยีราชมงคลล้านนา, กรมการแพทย์แผนไทย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีสัญญาซื้อขายช่อดอกแห้งกับองค์การเภสัชกรรม
การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ THCG จะทำให้บริษัทสามารถเริ่มเดินเครื่องธุรกิจและรับรู้ส่วนแบ่งรายได้เข้ามาทันที เพราะปัจจุบัน THCG ได้รับใบอนุญาตในการปลูก จำหน่าย และครอบครองเรียบร้อยแล้ว มีการปลูกกัญชงเพื่อเอาเมล็ด (Hemp seed) และช่อดอก
ทำให้บริษัทสามารถนำช่อดอกที่ THCG ปลูกมาสกัดในโรงสกัดของบริษัทได้เลยเมื่อได้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ THCG ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
นอกจากการจับมือกับพันธมิตร บริษัทยังลงทุนเองควบคู่กันไปด้วย ล่าสุด (8 ต.ค.) มีข่าวดีหลัง อย. ไฟเขียวอนุมัติใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงจากสหรัฐเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องสกัด คาดว่าโรงสกัดจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตช่วงแรก 100-200 กิโลกรัมดอกแห้งต่อวัน และเพิ่มเป็น 1,100 กิโลกรัมต่อวันในครึ่งหลังปี 2565
ทั้งนี้ “กันกุล” ตั้งเป้าจะเริ่มรับรู้รายได้จากธุรกิจกัญชงเข้ามาในปีหน้าประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท และจะรับรู้เต็มปีตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป หรือ คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของรายได้รวม ซึ่งรายได้ที่เข้ามาจะมากกว่าหรือน้อยกว่าเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้ขึ้นอยู่กับราคาขายเป็นหลัก
ถือว่า ธุรกิจกัญชากัญชง ของกันกุลกำลังไปได้สวย เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ช่วยเติมเสน่ห์ให้บริษัทมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ด้วยราคาหุ้นที่พุ่งรับข่าวมามากแล้ว ถามว่าจะไปต่อได้อีกแค่ไหน? คงต้องรอดูฟีดแบ็กหลังเริ่มเดินเครื่องธุรกิจ
ด้านบล.เคทีบีเอสที ระบุว่า ขณะนี้ธุรกิจกัญชงมีพัฒนาการที่ดีตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหลังได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดกัญชงแล้ว คาดว่าบริษัทจะทยอยได้รับใบอนุญาตปลูกและสกัดต่อไป ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 1 ปี 2565
ส่วนบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า คาดกำไรไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ราว 800 ล้านบาท เติบโตโดดเด่น 300% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม และคาดกำไรปกติปี 2564 ที่ 2,202 ล้านบาท เติบโต 54% จากลมที่ฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 2 ที่เวียดนามจำนวน 100 เมกะวัตต์
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) คาดทยอยรับรู้รายได้ราว 2,500 – 3,000 ล้านบาท จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่เกือบ 10,000 ล้านบาท ด้านธุรกิจกัญชงอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตเพาะปลูก คาดว่าจะสามารถเริ่มปลูกได้ในไตรมาส 4 นี้ และเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งแรกปี 2565