สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง
ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลใกล้จะแตะ 30 บาท/ลิตร และเบนซินใกล้ทะลุ 40 บาท/ลิตรแล้ว
อีกทั้ง กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังไม่ระบายน้ำมันดิบออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) หลังก่อนหน้านี้ ตลาดมีความกังวลว่า สหรัฐฯ อาจจะ พิจารณาเรื่องปล่อยน้ำมันดิบออกจากคลังหรืออาจระงับการส่งออกน้ำมัน เพื่อฉุดต้นทุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลง และเพื่อรองรับความต้องการน้ำมันในประเทศ
ส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เรียกประชุมด่วน หลัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เอ่ยปากให้รีบแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ถึงแม้ว่ากระทรวงพลังงานจะประกาศลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และบี7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ1.40 บาท มีผลบังคับใช้ไปแล้ววันที่ 5 ต.ค.– 31 ต.ค.2564 ซึ่งปัจจุบันถูกกว่า 1.80 บาทต่อลิตรอยู่แล้ว
การลดการจัดเก็บเงิน บี7 เข้ากองทุนจาก 1.00 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร พร้อมทั้งปรับลดการผสมไบโอดีเซล จากบี10 และบี7 เหลือบี6 โดยจะมีผลวันที่ 11 ต.ค.– 31 ต.ค.2564 ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ จะใช้เงินอุดหนุนจาก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยใช้เฉลี่ยเดือนละ 2,237 ล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศแต่ในมาตรการครั้งนี้ กบง.จะใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เบื้องต้นอยู่ที่ 3,000 ล้านบาทเพื่อคุมสถานการณ์ถึงสิ้นเดือนต.ค.2564
ขณะที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) หรือ PTT ยืนยันว่า ปตท.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด แต่ยอมรับว่าช่วงไตรมาส4/2564 อยู่ในช่วงฤดูหนาว ความต้องการใช้พลังงานจึงสูงตามไปด้วย อีกทั้งประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบกว่า 80% นั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงตามมาด้วย
โดย นายอรรถพล มองว่าจากการที่กลุ่มโอเปกได้มีการประชุมถี่ขึ้น คาดว่า ก่อนสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปที่ดีขึ้น ปตท.ยืนยันว่า ณ วันนี้ ปตท.จะยังไม่มีการปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน
เรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่เพียงแค่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่านั้น การเกิดภาวะเงินเฟ้อในขณะที่เศรษฐกิจยังคงมีความชะลอตัว ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเช่นกัน
เพราะน้ำมันเป็นสินค้าพลังงาน เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การขึ้นของราคาน้ำมันจึงส่งผลกระทบต่อผู้คนในระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างด้วย
และเมื่อคำนวณเม็ดเงินในกองทันน้ำมันฯ หากนำมาช่วยเหลือระยะสั้นสิ้นเดือนต.ค.2564 จำนวน 3,000 ล้านบาท จะทำให้เหลือเงินในกองทุน 8,000 ล้านบาท หากนับบวกไปถึงสิ้นปีจะเหลือเงินกองทุนราว 2,000 ล้านบาท หากสถานการณ์น้ำมันผันผวนหรือไม่ดีขึ้น
จากนี้ต่อไปต้องคอยจับตาดูว่า กระทรวงพลังงานจะเลือกใช้วิธีใดเพื่อตรึงราคาน้ำมันไม่ให้พุ่งสูงจนเกินไป หรือจะเลือกวิธีกู้เงินโดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกหน้าค้ำประกันให้หรือไม่.