ทอท.ดันแอร์พอร์ตซิตี้ คัด 68 โครงการลงทุน
ทอท.เขย่า 68 โปรเจค เคาะกลางเดือนนี้ ดันลงทุนพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์รอบสนามบินสุวรรณภูมิ คาดอัดงบไม่เกิน 3 พันล้านบาท เนรมิตพื้นที่เฟสแรก หนุนรายได้นอนแอโรว์โต 50%
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยระบุว่า ภายหลังกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้มีมติเห็นชอบขยายเวลาการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุออกไปอีก 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2564 - 29 ก.ย.2594 ทอท.ได้เริ่มกระบวนการพิจารณาข้อเสนอจากภาคเอกชน ที่ต้องการเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
“ตอนนี้ ทอท.กำลังให้ฝ่ายธุรกิจพิจารณาธุรกิจที่มีศักยภาพ จากที่มีเอกชชนเสนอมา 68 โครงการ เพื่อติดต่อไปยังเอกชนเจ้าของโครงการต่างๆ ว่ายังคอนเฟิร์มแผนลงทุนหรือไม่ ซึ่งคาดว่าภายในกลางเดือนนี้จะพิจารณาแล้วเสร็จ โดยอาจจะคัดเลือกออกมาเหลือไม่กี่โครงการ แต่จะเป็นโครงการที่สนับสนุนการบิน และหากมีดีมานด์ลงทุนในโครงการลักษณะเดียวกันจำนวนมาก ก็จะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชน”
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ได้อนุมัติงบประมาณราว 1.9 พันล้านบาท เพื่อเริ่มดำเนินการแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคหลักบนพื้นที่ดังกล่าว อาทิ ก่อสร้างและปรับปรุงถนน ปรับเสาไฟฟ้า ทำหม้อแปลง เชื่อมต่อมาจากถนนศรีวารี ไปลงบริเวณถนนสุวรรณภูมิสาย 4 ซึ่งปัจจุบันแบบก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเสร็จในเดือน ต.ค.นี้ เริ่มกระบวนการเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาในเดือน ก.พ.2565 และตอกเสาเข็มงานก่อสร้างในเดือน มี.ค.2565
สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท.จะนำร่องในแปลงศรีวารีน้อย 723 ไร่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่การเกษตรที่สามารถพัฒนาเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรได้ และจะตต่อยอดกับธุรกิจศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก ที่ ทอท.ดำเนินการในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO)
“เรามองว่าโครงการแรกที่ทำได้เลย ซัพพอร์ตกับธุรกิจที่มีอยู่ คือการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร โดย AOTTO จะทำหน้าที่หาดีมานด์ในตลาดโลก และนำดีมานด์เข้ามา ซึ่ง ทอท.จะเข้าไปเตรียมพื้นที่ให้ เบื้องต้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะลงทุนโรงการค้าเอง เป็นตลาดสไตล์ตลาดไทย และจะมาหักค่าเช่ากับ ทอท.ในภายหลัง ดังนั้นการลงทุนเฟสแรก ทอท.น่าจะใช้งบ 1.9 พันล้านบาท และลงทุนสาธารณูปโภครวมไม่เกิน 3 พันล้านบาท”
นอกจากนี้ ทอท.ยังเตรียมหารือร่วมกับสายการบินไทยเวียตเจ็ท ที่ก่อนหน้านี้ต้องการเข้ามาลงทุนเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ และศูนย์ฝึกลูกเรือ ขอใช้พื้นที่ 40-50 ไร่ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการหารือเพื่อยืนยันแผนลงทุนดังกล่าว หากทางสายการบินไทยเวียตเจ็ทยังยืนยัน ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากธรกิจดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสนับสนุนธุรกิจหลักของสนามบิน
ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่แปลง 37 เนื้อที่ 1,470 ไร่ หากหักพื้นที่เลนจักรยานไปแล้ว จะเหลือให้เอกชนลงทุนได้ประมาณ 700 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกกิจการ เช่น ปั๊มน้ำมัน ธุรกิจล้างรถ ส่วนธุรกิจโรงแรม และคอมมูนิตี้มอลล์ เบื้องต้นมีเอกชนเสนอแผนลงทุนเข้ามา แต่ ทอท.ต้องพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวว่าจะขัดต่อมติบอร์ด หรือกระทบต่อผู้ประกอบการรายเดิมในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือไม่
นายนิตินัย ยังกล่าวด้วยว่า การพิจารณาธุรกิจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้สนามบิน มีข้อจำกัดเรื่องความสูง ดังนั้นธุรกิจที่น่าจะทำได้ต้องไม่ก่อสร้างแนวสูง เบื้องต้น ทอท.ยังพิจารณาธุรกิจที่น่าสนใจอย่างโชว์รูมรถหรู พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นพื้นที่ทดลองขับก่อน โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ารถยนต์ เพราะยังอยู่ในพื้นที่ของท่าอากาศยาน หากทดลองขับแล้วต้องการซื้อ ก็สามารถดำเนินการในขั้นตอนจ่ายภาษีที่สนามบิน และนำรถยนต์ออกไปได้ตามกฎหมาย
ทั้งนี้ แผนพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดนี้ ทอท.ตั้งเป้าว่าจะเป็นรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรายได้จากธุรกิจนอกเหนือการบิน หรือ Non - Aero ซึ่งภายหลังเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนแล้ว เชื่อว่ารายได้ของ ทอท.จะปรับจากปัจจุบันมีรายได้ Non – Aero อยู่ที่ 43% และมีรายได้จาก Aero 57% เป็น Non – Aero 50% และ Aero 50%