‘กนอ.’ ลุยต่อมาบตาพุดเฟส 3 ระยะ 2 เตรียมเปิดประมูลโครงการ 7,500 ล้าน
กนอ. เผยเตรียมประกาศเชิญเอกชนร่วมลงทุน ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ปลายปีนี้ สร้างสาธารณูปโภคบนพื้นที่ถมทะเลรวม 350 ไร่ รวมมูลค่าลงทุน 7,500 ล้านบาท
ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งใช้เป็นท่าเรือรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานเต็มศักยภาพแล้วจึงมีความจำเป็นต้องขยายท่าเรือ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 เข้าสู่ระยะที่ 2 โดยจะมีการประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อยื่นข้อเสนอร่วมลงทุน ในช่วงเดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. ปีนี้ จากนั้นจะมีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ภายในเดือน ธ.ค. 2564 ถึง พ.ย. 2565 เอกชนที่ได้รับคัดเลือกจะต้องจัดเตรียมการศึกษาเบื้องต้นและจัดทำรายงาน EHIA ภายในเดือน พ.ย. 2565 ถึง พ.ย. 2567 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย. ปี 2569
ทั้งนี้ การดำเนินงานในส่วนของระยะที่ 2 เป็นการก่อสร้างสาธารณูปโภคบนที่ดินที่ถมแล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นที่เก็บสารเคมี ปิโตรเคมี และโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว มูลค่า 4,300 ล้านบาท และคลังสินค้าหรือกิจการที่เกี่ยวข้อง 3,200 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 แปลง ได้แก่ พื้นที่แปลง A เป็นพื้นที่สำหรับท่าเรือสินค้าเหลว มีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า ประมาณ 814 เมตร เพื่อรองรับปริมาณสินค้าประมาณ 4 ล้านตันต่อปี และแปลง C ใช้เป็นคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีเฉพาะพื้นที่หลังท่าประมาณ 150 ไร่ โดยเอกชนที่ชนะการประมูลจะได้รับสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ทั้งสองแปลง เป็นระยะเวลารวม 32 ปี แบ่งเป็นระยะก่อสร้าง 2 ปี และระยะเวลาประกอบธุรกิจ 30 ปี
ด้าน กนอ. ได้เสนอปัจจัยสนับสนุนหลายด้านที่อำนวยความสะดวกให้กับเอกชน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เชื่อมโยงเต็มรูปแบบมากขึ้นของภาครัฐ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอม และแก่งคอย-มาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุววรณภูมิ-อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภา โครงการถนนมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด โครงการสนามบินอู่ตะเภาเชิงภาณิชย์ และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
นายวีริศ กล่าวว่า ภาครัฐมีการพูดคุยกับ BOI เพื่อสนับสนุนในเรื่องยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี อีกทั้งลูกจ้างต่างชาติที่เข้ามาทำงานสามารถเป็นเจ้าของที่ดินบนเขตการนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นนอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยังสามารถนำมูลค่าของนวัตกรรมมาใช้ลดหย่อนภาษีกับ BOI ได้อีก และในกรณีที่เป็นหน่วยงานต่างชาติสนใจทำสัญญาเช่าจะได้รับสิทธิในการทำสัญญาเช่าที่ดินภายในเขตส่งเสริมได้เป็นเวลา 50 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 49 ปี
ผลประโยชน์ของการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด จะทำให้พื้นที่แถบนี้กลายเป็นศูนย์กลางของท่าเรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ ทั้งยังเป็นประตูสู่การค้าที่เชื่อมโยงไทยกับภูมิภาค สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศในพื้นที่ นอกจากนี้ท่าเรือนี้จะมีความสามารถในการรองรับก๊าซ LNG ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการสร้างพลังงานให้กับพื้นที่อีอีซี อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน
นอกจาก กนอ. จะมีแนวทางมุ่งไปสู่อนาคตที่ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตแล้ว ยังคิดถึงเรื่องพลังงานสะอาดและการอยู่ร่วมกับชุมชน และมองภาพว่านิคมอุตสาหกรรมจะเจริญโดยที่ชาวบ้านที่อยู่โดยรอบจะเดือดร้อนไม่ได้ เพราะฉะนั้นกนอ.ต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนคู่กับชาวบ้านและชุมชน มุ่งสู่นโยบายภาครัฐ Carbon Neutralization ลดการสร้างคาร์บอนให้ได้มากที่สุด สู่การผลิตคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะเวลาอันใกล้