“วีริศ”เร่งเครื่องภารกิจ กนอ. ดันมาบตาพุด-กระตุ้นลงทุน

“วีริศ”เร่งเครื่องภารกิจ กนอ. ดันมาบตาพุด-กระตุ้นลงทุน

กนอ. รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ได้มีผู้ว่าการฯ คนที่ 12 วัย 46 ปี ที่เพิ่งลงนามสัญญาจ้างไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 ซึ่งมีงานที่รออยู่ทั้งการขับเคลื่อนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

รวมถึงการผลักดัน โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3” ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ได้สิทธิการร่วมลงทุนกับ กนอ.

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า บางส่วนที่อาจกังวลเกี่ยวอายุและประสบการณ์การบริหารองค์กร ขอยืนยันว่าจะพยายามเรียนรู้งานอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสของประเทศ รวมทั้งเพื่อสานต่อภารกิจของ กนอ. โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่ กนอ.ต้องขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล เช่น โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมขนส่งก๊าซ และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงที่สำคัญ โดยทั้ง 2 โครงการนี้ ถือได้ว่าเป็นโครงการหลักที่สำคัญในการพัฒนาอีอีซี

สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ขณะนี้ได้ติดปัญหาติดปัญหากับชุมชนในบางด้าน ซึ่งทำให้ล่าช้ากว่าแผนประมาณครึ่งเดือน โดย กนอ.จะเร่งเข้าไปเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีกับทุกฝ่าย และเร่งรัดงานให้เดินหน้าได้ตามที่กำหนด 

“ขณะนี้ กนอ.ยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชน เพราะต้องแก้ไขแบบโครงการเล็กน้อย และตามกฎหมายเมื่อมีการแก้ไขจะต้องแจ้งชุมชนในพื้นที่เพื่อให้รับทราบก่อน แต่ไม่ต้องถึงขั้นต้องจัดการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใหม่”

161979559018

ส่วนโครงการนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค ที่อยู่ในพื้นที่มาบตาพุด คอมเพล็กซ์ และเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 จะเร่งออกไปดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีนวัตกรรมตามโจทย์ที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ที่ไทยมีศักยภาพสูง

นอกจากนี้ ภาวะการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ยอดการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต หรือขยายผลิตสินค้าใหม่ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประเมินล่าสุด พบว่าผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมขอขยายพื้นที่ในปี 2564 สูงถึง 3,680 ไร่ วงเงินลงทุน 103,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 26,000 คน มากกว่าปี 2663 ที่ขอขยายพื้นที่ 2,500 ไร่ และในปี 2562 ขอขยายพื้นที่ 2,222 ไร่ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนนี้จะทยอยลงทุนจริงตั้งแต่ปี 2564 ไปต่อเนื่องอีก 1-2 ปี

“ยอดการขยายการลงทุนในนิคมฯ สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ 106,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนถึง 287% ทำให้เห็นชัดว่าผู้ประกอบการยังเดินหน้าขยายการลงทุนเต็มที่แม้จะมีโควิด-19 จึงเชื่อว่าหลังจากโควิด-19 คลี่คลายยอดเงินลงทุน และยอดขายพื้นที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก”

ทั้งนี้ ยอดการลงทุนตั้งโรงงานใหม่ยังมีอยู่น้อย เพราะนักลงทุนไม่สามารถเข้ามาดูพื้นที่หรือเจรจาธุรกิจได้ เนื่องจากการปิดประเทศ แม้นักธุรกิจจะไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้ แต่ กนอ.จะเร่งดำเนินการเชิงรุกผ่านช่องทางต่างๆ 

ทั้งนี้ ล่าสุดประสานงานกับสื่อมวลชนในจีนหลายราย เพื่อเผยแพร่มาตรการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์การลงทุนในทุกด้านให้กับผู้ประกอบการในจีนได้รับทราบ รวมทั้งมีแผนจะเข้าไปหารือกับสถานเอกอัครราชทูตจีน ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐ เพื่อขยายความรร่วมมือดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมหลังเปิดประเทศที่จะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนมาเจรจาธุรกิจเดินหน้าลงทุนได้ทันที

นอกจากนี้ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางขยายสิทธิประโยชน์ด้านอื่นที่ไม่ใช่เพียงมาตรการด้านภาษี ในการอำนวยความสะดวกให้กับสักลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อออกแบบสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งบางบริษัทอาจต้องการให้ช่วยเหลือด้านอื่นที่ไม่ใช่ภาษี หรือติดข้อจำกัด หากดำเนินการได้จะเร่งผลักดันทันที

โดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมโรงงานที่มุ่งเน้นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดมลพิษ หรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์จะหามาตรการส่งเสริมเพิ่ม เพราะโรงงานเหล่านี้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้มากกว่าโรงงานทั่วไป

ด้านการสร้างความมั่นคงให้กับนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอีอีซี ที่มีปัญหาภัญแล้วอยู่เสมอ ได้มีแผนที่จะร่วมมือกับเหมืองแร่เก่าในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ได้หยุดทำเหมืองไปแล้วให้เปลี่ยนเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีหลายแห่งที่เป็นไปได้ 

รวมถึงการส่งเสริมระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด เป็นต้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้บางส่วนที่ กนอ.ดำเนินการเองได้ก็จะเร่งผลักดันอย่างเต็มที่ แต่บางมาตรการอาจต้องใช้เงินลงทุนสูงก็มีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทพันธมิตรที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเข้ามาร่วมลงทุน

ส่วนแผนการพัฒนา กนอ.ระยะยาว จะหาช่องทางธุรกิจใหม่ เช่น การตั้งบริษัทลูก รวมถึงการร่วมทุนธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5จี ธุรกิจสาธารณูปโภค ซึ่งจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเป็นการบริหารสินทรัพย์และบุคลากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น และจะผลักดันให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้ระดมทุนและพัฒนาธุรกิจใหม่ได้เร็ว และสร้างรายได้ระยะยาวให้ กนอ.