เจาะลึกเหตุผล Molnupiravir ถูกวางเป็น Game Changer
Molnupiravir สรุปได้ว่าเป็นยา Game Changer ตัวหนึ่งของสถานการณ์ระบาดโควิด-19 และตอกย้ำธุรกิจ Biotechnology มีบทบาทอย่างมากต่อความสำเร็จการต่อสู้กับไวรัส ยังมียาตัวอื่นกำลังรอคอยผลทดลองอีกกว่า 100 ตัว อาจเป็นการต่อยอดจุดเปลี่ยนสู่ขั้นตอนลดความสูญเสียให้มากที่สุด
สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัท Merck และ Ridgeback Biotherapeutics ประกาศผลเบื้องต้นสำหรับการทดลองยา Molnupiravir เพื่อรักษาผู้ป่วยโรค COVID-19 ในระยะที่ 3 ซึ่งกระแสของโลกตอบรับว่า เป็นข่าวดีของมนุษยชาติ และยาตัวนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์การโรคระบาดที่ทุกอย่างจะกลับมาสู่สถานการณ์ปกติ หลังจากที่โลกเผชิญโรคระบาดนี้มาเกือบ 2 ปี หรือเป็น Game Changer เลยก็ว่าได้
ที่จริงแล้ว ยา Molnupiravir ไม่ได้เป็นยาตัวแรกที่ช่วยรักษาโรค COVID-19 ได้ จากข้อมูลที่ The New York Times เผยแพร่ล่าสุด ณ วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ระบุว่า ยาที่ใช้รักษาอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) มีเพียงตัวเดียว คือ ยา Remdesivir โดยบริษัท Gilead Sciences รวมถึงยากลุ่ม Monoclonal Antibodies (mAb) ซึ่งใช้แอนติบอดี้สกัดจากผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 แล้ว และยังมียาตัวอื่นๆ เช่น ยา Favipiravir ที่มีบางประเทศนำมาเป็นยาหลักสำหรับการรักษาผู้ป่วยที่อาการน้อย เช่น ญี่ปุ่น เคนย่า รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย และ ไทย เป็นต้น เพราะเป็นยาที่มีอยู่เดิมสำหรับการรักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วงแรกที่เชื้อระบาดและยังไม่มียารักษาและวัคซีนใดๆ ผลิตออกมา ยา Favipiravir เป็นหนึ่งในยาที่ทดลองใช้ทดแทนแล้วได้ผลลัพธ์ที่พอจะใช้ในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ได้
อ่านข่าว : เทียบ! 3ตัวยารักษาโควิด โมลนูพิราเวียร์-ฟาวิพิราเวียร์-ฟ้าทะลายโจร
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่ Molnupiravir ถูกวางให้เป็น Game Changer คือ ประเด็นแรก ประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับยารับประทานด้วยกัน โดย Molnupiravir ช่วยลดโอกาสที่ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง จะมีอาการแย่ลงถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตลงได้ประมาณ 50% โดยไม่พบผู้เสียชีวิตเลยในช่วงการรักษา 29 วัน
ขณะที่ผู้ที่ได้รับยาหลอก (Placebo) เสียชีวิตหลังจากผ่านการรักษาไปแล้ว 29 วัน ถึง 8 ราย หากเปรียบเทียบกับผลการทดลอง Favipiravir นั้น หากอ้างอิงจากวารสารวิชาการ European Journal of Clinical Microbiology & Infectious Diseases ซึ่งศึกษาด้วยวิธีการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ (Meta-analysis) ซึ่งเน้นศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา Favipiravir เปรียบเทียบกับวิธีการรักษาอื่น แม้ผลการทดลองจะระบุว่า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาแบบทั่วไป หรือการใช้ Placebo
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่าย โดยหากนำ Molnupiravir เปรียบเทียบกับ Remdesivir จะพบว่า แม้ประสิทธิภาพการใช้ Remdesivir จะสูงมากพอที่ US FDA อนุมัติให้ใช้เพื่อการรักษา COVID-19 อย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากเป็นยาแบบฉีด ทำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้นถึงจะได้รับยา Remdesivir เช่นเดียวกับยากลุ่ม (mAb) เช่น ยา Ronapreve™ ของบริษัท Regeneron ที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้รักษาตัว แม้จะช่วยลดโอกาสการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตลงได้กว่า 70% แต่ยังจำเป็นต้องฉีดโดยบุคลากรทางการแพทย์ แตกต่างจาก Molnupiravir ที่เป็นยารับประทาน ซึ่งแพทย์สามารถจ่ายยาให้ไปรับประทานเองที่บ้านได้ทันที และมีราคาถูกกว่ายา (mAb) โดยเฉลี่ย 3 เท่า หรืออยู่ที่ราว 700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคอร์สเท่านั้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ติดเชื้อระยะแรกลดโอกาสป่วยหนักมากขึ้นและส่งผลให้ลดการใช้ทรัพยากรในสถานพยาบาลอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะการค้นคว้ายารักษาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือเกิดภาวะปอดอักเสบขึ้นแล้วเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการทดลองยา Molnupiravir เพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19 นั้นแยกออกมาเป็น 2 โครงการ คือ MOVe-IN และ MOVe-OUT ซึ่งโครงการที่ Merck ประกาศผลการทดลอง Phase 3 เบื้องต้นนี้ คือ MOVe-OUT หรือเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาที่โรงพยาบาลซึ่งมีอาการน้อยถึงปานกลางเท่านั้น แต่ Merck ยกเลิกโครงการ MOVe-IN ไปในการทดลองระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการทดลองเฉพาะผู้ป่วยหนักที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนอื่นไปแล้ว เนื่องจากผลการทดลองสรุปได้ว่า ยา Molnupiravir ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยาต้านไวรัสนี้ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังไม่ได้วัคซีน หรือ มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน จะช่วยปิดช่องว่างที่วัคซีนไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ โดยลดโอกาสที่จะเสียชีวิตได้อย่างมาก
จากผลการทดลองยา Molnupiravir นั้นสรุปได้ว่า เป็นยา Game Changer ตัวหนึ่งของสถานการณ์การระบาดนี้เลยก็ว่าได้ และเป็นการตอกย้ำว่าธุรกิจ Biotechnology มีบทบาทอย่างมากต่อความสำเร็จในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ยังมียาตัวอื่นที่กำลังรอคอยผลการทดลองอีกกว่า 100 ตัว ซึ่งอาจเป็นการต่อยอดจากจุดเปลี่ยนของสถานการณ์นี้ สู่ขั้นตอนการลดความสูญเสียให้มากที่สุดระหว่างการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในอนาคต
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้