‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ หุ้นร่วงต่อเนื่อง หวั่นคนเมินวัคซีน หันกินยาโควิด
ราคาหุ้นไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ยังคงร่วงลงในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดหุ้นวอลล์สตรีทวันนี้ ต่อเนื่องจากที่ดิ่งลงในวันศุกร์ หลังมีการเปิดเผยประสิทธิภาพยาโมลนูพิราเวียร์ ในการรักษาโรคโควิด-19
เมื่อเวลา 18.46 น.ตามเวลาไทย ราคาหุ้นไฟเซอร์ร่วงลง 0.77% และราคาหุ้นโมเดอร์นาดิ่งลงกว่า 3% ขณะที่ราคาหุ้นบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค พุ่งขึ้นกว่า 2% ในการซื้อขายก่อนเปิดตลาดวันนี้
นายไมเคิล ยี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของบริษัทเจฟเฟอรีส์ กล่าวว่า การร่วงลงของราคาหุ้นบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจะกลัวโควิด-19 น้อยลง และจะลดความต้องการฉีดวัคซีน เนื่องจากมียาเม็ดที่กินได้ง่ายเพื่อรักษาโรคโควิด-19
ส่วนนายอาเมช อาดาลจา นักวิชาการอาวุโสจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์กล่าวว่า “ยาเม็ดที่ใช้รับประทานซึ่งสามารถลดความเสี่ยงอย่างมากในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลถือเป็นตัวพลิกเกมเลยทีเดียว เนื่องจากวิธีการรักษาโรคโควิด-19 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันถือว่าสร้างความยุ่งยากให้แก่แพทย์อย่างมาก ซึ่งการมียากินรักษาแบบง่ายๆจะช่วยได้มาก”
การร่วงลงของราคาหุ้นไฟเซอร์และโมเดอร์นา สวนทางการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นเมอร์ค ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ของสหรัฐ หลังบริษัทแถลงว่า ทางบริษัทเตรียมยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในกรณีฉุกเฉิน หลังการทดลองทางคลินิกได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ
นอกจากนี้ เมอร์คจะทำการยื่นขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ต่อประเทศต่างๆทั่วโลก
ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าบริษัทเมอร์คจะมีรายได้มหาศาลจากการจำหน่ายยาโมลนูพิราเวียร์ที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกในขณะนี้ แม้ว่าขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์ยังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แต่หลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มเจรจาเพื่อสั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากเมอร์คแล้ว
หากได้รับการอนุมัติจาก FDA ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดต้านโควิด-19 ชนิดแรกที่ได้รับการอนุมัติในสหรัฐ โดยสหรัฐยังไม่ได้ให้การอนุมัติการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดต้านโควิด-19 เช่นกัน แม้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ได้รับการรับรองจากบางประเทศแล้ว
ทางด้านสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส หรือ 68 ล้านเม็ด วงเงิน 1,200 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยราคาคอร์สละ 700 ดอลลาร์ หรือราว 23,000 บาท โดยมีราคาราวเม็ดละ 600 บาท
ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
เมอร์คได้เริ่มผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว โดยคาดว่าจะสามารถผลิตได้ 10 ล้านคอร์สภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายยาดังกล่าวสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.4 แสนล้านบาท
ถึงแม้ยาโมลนูพิราเวียร์มีราคาแพงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาเม็ดรักษาโรคโควิด-19 ที่มีการใชักันในหลายประเทศ แต่ยาโมลนูพิราเวียร์ก็มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับยาของบริษัท Regeneron ซึ่งมีราคาโดสละ 1,250 ดอลลาร์ ขณะที่ยาของบริษัท GlaxoSmithKline มีราคาโดสละ 2,100 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ยังมีความสะดวกต่อการรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเองที่บ้าน เมื่อเทียบกับการรักษาในปัจจุบันที่ต้องฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำของผู้ป่วย
เมอร์คเปิดเผยว่า ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 14.1% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย
อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 775 คนได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอกภายในเวลา 5 วันจากที่เริ่มมีอาการ
ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และแต่ละคนมีปัจจัยหนึ่งอย่างที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี
เมอร์คได้ทำการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในระยะที่ 3 ในสถานที่มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในสหรัฐ บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน
เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม
ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น
เมอร์คระบุว่า ยาโมลนูพิราเวียร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อพันธุกรรมในเซลล์มนุษย์แต่อย่างใด
ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการติดเชื้อ