"อนุสรณ์ ธรรมใจ" มองราคาน้ำมันพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1 ปี 65
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ มองน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1 ปี 65 ดันเงินเฟ้อพุ่ง ต้นทุนการผลิตการขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงเผชิญกับภาวะ Stagflation ที่เศรษฐกิจโตต่ำ สวนทางเงินเฟ้อทีเพิ่มขึ้น แนะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแบบขั้นบันได
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกขึ้นไปสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี 2557 หรือ ในรอบเกือบ 7 ปี คาดการณ์แนวโน้มราคาน้ำมันเป็นขาขึ้นไปจนถึงกลางปีหน้าเป็นอย่างน้อย และมีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือปรับตัวทะลุระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนภาคการผลิต การขนส่งคมนาคมสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยคาดว่าช่วงปลายปีราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 75-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวดีต่อเนื่องและกลุ่มโอเปคพลัสยังคงไม่เพิ่มกำลังการผลิตไปมากกว่าเดิมอาจเห็นราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ณ ระดับราคาดังกล่าวน่าจะจูงใจให้ผู้ผลิตน้ำมันเพิ่มอุปทานในตลาด รวมทั้งกลุ่มโรงกลั่นผลิต Shale oil ในสหรัฐน่าจะกลับมาผลิตเพิ่ม
แต่หากราคาน้ำมันยังไม่แตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เชื่อว่ากลุ่มโอเปกพลัสคงมติเดิมเพิ่มกำลังการผลิตเพียงวันละ 4 แสนล้านบาร์เรล ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ไนจีเรียยังประสบปัญหาเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลง ราคาก๊าซธรรมชาติที่สูง หลายชาติลดการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะประเทศจีนได้มีนโยบายในการลดการปล่อยคาร์บอนในเชิงรุก หันมาใช้น้ำมันและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีก
อ่านข่าว : เปิดเบื้องหลัง ‘ราคาน้ำมัน’ ขึ้น หรือ ลง เกิดจากอะไร ?
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด จีนอาจปล่อยน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ประมาณ 33-82 ล้านบาร์เรล คงจะช่วยบรรเทาการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันได้บ้าง เนื่องจากจีนมีสต็อกน้ำมันราคาต้นทุนที่ถูกกว่าราคาในตลาดโลกปัจจุบันประมาณ 5-10 ดอลลาร์โดยเฉลี่ย และหลังจากกลางปีหน้าแล้ว อุปทานในตลาดน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ว่า อิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันได้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกต่ออิหร่านน่าจะยุติลง
ทั้งนี้ ผลบวกของราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทยมีน้อยมากเพราะประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานและน้ำมันสุทธิ โดยผลประโยชน์จะเกิดต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น และอาจมีผลบวกต่อสินค้าที่ใช้ทดแทนกันสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญ ธุรกิจยางธรรมชาติอาจได้ประโยชน์จากยางสังเคราะห์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่แพงขึ้น
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันแพงยังได้รับผลจากการที่เงินบาทอ่อนค่าและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกด้วย ทิศทางค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จากดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลในปีนี้ ดุลการค้าเกินดุลลดลงอย่างมาก คาดว่าปีนี้ดุลบัญชีเงินทุนมีเงินไหลออกสุทธิไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านดอลลาร์ โดยมีทั้งการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรง แต่การลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดการเงินเริ่มเป็นซื้อสุทธิ ปีที่แล้วเงินทุนไหลออกสุทธิประมาณ -3.59 พันล้านดอลลาร์ อัตราการค้าปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากราคานำเข้าสินค้าเพิ่มสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออก
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญภาวะ Stagflation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เติบโตต่ำและเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาก สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่เวลานี้คือ รายได้ชะลอตัว หนี้สินท่วม ค่าครองชีพสูงขึ้น แถมยังว่างงานอีกหรือทำงานต่ำระดับ ไม่มีความจำเป็นใดๆที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพิ่มขึ้นหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเพราะช่องว่างการผลิต (Output Gap) ของเศรษฐกิจไทยยังติดลบค่อนข้างมาก มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมาก การใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นต่อการประคับประคองการฟื้นตัวของการจ้างงานและการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
โดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัญหาทางด้านอุปทานเป็นหลัก คือ ราคาพลังงานสูงขึ้น บาทอ่อนค่า และราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นจากน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ราคาสินค้าอุตสาหกรรมบางส่วนปรับตัวสูงขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบ การชะงักของระบบจัดส่งและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาบางส่วนเกิดจากการหยุดดำเนินการผลิตของโรงงาน เกิดการการชะงักงันของระบบจัดส่งโลจิสติกส์ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ภาวะ Stagflation ของเศรษฐกิจไทยอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณของ Excess Demand ใดๆ มีฟองสบู่อยู่บ้างในตลาดการเงิน ส่วนตลาดผลผลิตไม่มีเลย ตอนนี้มีแต่ Excess Supply อุปสงค์ขยายตัวต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ
ส่วนมติของ กบง. เพื่อควบคุมราคาน้ำมันด้วยการปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มดิบผสมไบโอดีเซลจะส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์ม กระทบอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ มาตรการนี้จะทำให้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลลดลงเหลือเพียง 2-3 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตพลังงานชีวภาพทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ และอาจทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยขาดทุนจากต้นทุนสต็อกที่สูงและต้องขายตามราคาที่รัฐบาลกำหนดใหม่ การแก้ปัญหาราคาไบโอดีเซลด้วยวิธีดังกล่าวก็เลยสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา และอาจทำให้กิจการไบโอดีเซลของไทยบางแห่งต้องหยุดกิจการไป
โดยมองว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถดำเนินการได้ ด้วยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแบบขั้นบันได ใช้น้ำมันน้อยเสียในอัตราต่ำกว่าใช้น้ำมันมาก ยิ่งใช้น้ำมันมากยิ่งเสียในอัตราสูง ยกเว้นสำหรับรถโดยสารมวลชนและรถขนส่งสินค้า ปรกติรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมากส่วนใหญ่เป็นรถยนต์กำลังแรงสูง cc สูงของผู้ร่ำรวย ส่วนการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อุดหนุนราคานั้น ควรนำเอาอัตราเงินเฟ้อมาพิจารณาเป็นเกณฑ์ร่วมกับระดับราคาน้ำมันที่ตั้งเป้าเข้าอุดหนุนราคา ดูที่ระดับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคการผลิตและภาคขนส่ง เช่น ระดับราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร หรือ ระดับของอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 4% ขึ้นไป สำรวจดูจะพบว่า ธุรกิจขนส่งคมนาคมกระทบหนักสุด อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหมืองแร่ ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ กระทบมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า ใช้พลังงานและน้ำมันมากหรือน้อยในกระบวนการผลิตสินค้า ธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมเหล็ก กิจการเซรามิค ต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนที่ได้รับอานิสงค์ ได้ผลบวก คือ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจพลังงาน พวกธุรกิจการค้าก็ไม่น่าจะกระทบมากนัก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่เศรษฐกิจไทยน่าจะยังมีอัตราการเติบโตได้ในระดับ 0.5-0.8% ส่วนปี 2565 ยังมีความไม่แน่นอนสูง ต้องรอดูปัจจัยต่างๆ ทั้งภายนอกภายในให้ชัดเจนก่อน และต้องรอดูว่าจะมีการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือไม่ แต่พอคาดการณ์ในเบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจไม่น่าจะติดลบ ส่วนบวกแค่ไหนนั้นต้อง รอดูปัจจัยต่างๆให้ชัดเจนก่อน แต่ค่อนข้างแน่ใจว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ (เศรษฐกิจไทยมี Potential GDP อยู่ที่ประมาณ 5-6% เติบโตได้ในระดับนี้โดยไม่มีเงินเฟ้อสูง) ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (Actual GDP) ต่ำกว่าผลผลิตที่ระดับศักยภาพ (Potential GDP) ค่อนข้างมากมาร่วม 5-6 ปีแล้ว และมากขึ้นอีกในช่วงสองปีที่ผ่านมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด จึงมีกำลังผลิตส่วนเกิน ปัจจัยการผลิตและแรงงานไม่ได้ถูกใช้เต็มประสิทธิภาพ Output Gap หรือ ช่องว่างการผลิตของไทยจึงติดลบมากกว่าหลายประเทศในอาเซียน