ttb ชี้ เอฟเฟคท์ลดคุ้มครอง “เงินฝาก” คนรวย โยกฝาก เข้าบัญชีต่ำล้านพุ่ง

ttb ชี้ เอฟเฟคท์ลดคุ้มครอง “เงินฝาก” คนรวย โยกฝาก เข้าบัญชีต่ำล้านพุ่ง

ทีทีบีชี้ หลังลดคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1ล้านบาท พบเดือนส.ค.มีเงินไหลออกจากบัญชีเงินฝากเกิน 1ล้านบาทพุ่ง 4.1 หมื่นล้านบาท ไหลเข้าบัญชีเงินฝากต่ำกว่า 1ล้านบาทพุ่งเฉียด 5 หมื่นล้านบาท


     นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า หลังจาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาอยู่ที่ 1ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน โดยมีผลเมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น

     พบว่า เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากของนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างมาก โดยโยกจากบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากเกิน 1ล้านบาท ไปสู่บัญชีต่ำกว่า 1ล้านบาทมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการปรับลดคุ้มครองเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา

     โดยพบว่า เดือนส.ค.เดือนเดียว มีเงินฝากรายย่อย จากบัญชีเงินฝากเกิน 1ล้านบาท ไหลออกถึง 41,709 ล้านบาท หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่เงินฝากไหลออกเพียง 3,202 ล้านบาท หรือหากเทียบกับ4 เดือนที่ผ่านมา ที่ภาพรวมของบัญชีเงินฝากเกิน 1ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่อง
 

     ในทางกลับกัน พบว่า เงินฝากรายย่อยในบัญชีเงินฝากที่ต่ำกว่า 1ล้านบาท ขยายตัวขึ้นก้าวกระโดดถึง 49,829 ล้านบาท หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่มียอดเงินฝากไหลเข้าเพียง 7,361 ล้านบาท

     ซึ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนรายย่อยมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเกณฑ์คุ้มครองเงินฝากใหม่ที่เพิ่งมีผล โดยการกระจายบัญชีเงินฝากไม่ให้เกิน 1ล้านบาทมากขึ้น

     “อดีตที่ผ่านมา บัญชีเงินฝากต่ำกว่า 1ล้านบาท ไม่ค่อยโต เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งแตกต่างกับบัญชีเงินฝากเกิน1ล้านบาท ที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนว่าที่ผ่านมาคนมีรายได้สูงได้รับผลกระทบจากวิกฤติค่อนข้างน้อย แต่วันนี้ภาพกลับหัว เดือนส.ค.เดือนเดียว เงินฝากเกิน1ล้านบาทไหลออก4.1หมื่นล้านบาท ไปเข้าบัญชีเงินฝากที่มียอดเงินไม่เกิน 1ล้านบาท เกือบ 5 หมื่นล้านบาท หลังนักลงทุนปรับตัวรับกับการลดคุ้มครองเงินฝาก แม้ระบบสถาบันการเงินจะแข็งแกร่งก็ตาม”

    อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมเงินฝากรายย่อยสุทธิในเดือนส.ค.2564 เติบโตขึ้น อยู่ที่ 8,120 ล้านบาท จากเดือนก.ค.ที่เงินฝากเติบโตอยู่ที่ 4,159 ล้านบาท

    ทั้งนี้หากดูภาพรวมเงินฝากทั้งระบบพบว่า ปัจจุบันเงินฝากถือว่าล้นระบบ

    โดยเงินฝากโดยรวมอยู่ที่ 14.88 ล้านล้านบาท ขยายตัวขึ้น 3% หากเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เงินกู้ขยายตัวเพียง 2% เท่านั้นสะท้อนให้เห็นว่า เงินฝากโตเร็วกว่าการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก (LTD)ปรับตัวค่อนข้างต่ำมาอยู่ที่ 93% หากเทียบกับช่วง 10ปีที่ผ่านมาที่ LTD อยู่ที่ 95-96% อย่างต่อเนื่อง