การเตรียมความพร้อม ต่อโลกที่กำลังจะร้อนขึ้น
ในปีนี้ข้อมูลที่เกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งจากข่าวคลื่นความร้อน หรือ heat wave ที่ส่งผลให้อุณหภูมิในบางส่วนของแคนาดา สหรัฐ และรัสเซีย สูงเป็นประวิติการณ์ ข่าวอุทกภัยในจีนและเยอรมนี อาจมีผลต่อเศรษฐกิจ
รายงานฉบับล่าสุดของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ออกมายืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์และหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ โลกจะร้อนขึ้น
ไม่น่าแปลกใจที่เครื่องปรับอากาศจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในโลกที่ร้อนขึ้น ในขณะเดียวกันการเติบโตของการใช้เครื่องปรับอากาศก็จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจากการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะทำให้คนหลายกลุ่มปรับตัวได้ยากบนโลกที่ร้อนขึ้น ในปี 2020 ครัวเรือนที่มีเครื่องปรับอากาศคิดเป็นเพียงราว 31% ของไทยและการเพิ่มการใช้งานเครื่องปรับอากาศยังจะเป็นการเพิ่มค่าไฟฟ้าของครัวเรือนอีกด้วย
นอกจากนี้ คนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น แรงงานก่อสร้างและเกษตรกรจะไม่สามารถหลบความร้อนในห้องแอร์ได้ในระหว่างวัน โดยกรมควบคุมโรค เผย ปี 2019 มีคนเสียชีวิตจากอากาศร้อนถึง 57 ราย นอกจากนี้ บรรณาธิการของวารสารการแพทย์กว่า 220 ราย เช่น The Lancet, New England Journal of Medicine และ British Medical Journal ได้ออกมาประกาศว่าสุขภาพของคนทั่วโลกกำลังได้รับอันตรายจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นและการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมโดยเน้นย้ำว่าความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือน ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและระบบสาธารณสุขทั่วโลกไม่มีความพร้อมด้านการจัดการกับปัญหาสุขภาพที่จะเกิดจาก climate change
นอกเหนือจากปัจจัยด้านสุขภาพและความสบายของบุคคลแล้ว อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอีกด้วย การวิจัยพบว่า productivity ของการทำงานในออฟฟิศจะเริ่มลดลงตามอุณหภูมิที่สูงขึ้น ในภาคการผลิตอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งกระทบต่อกระบวนการผลิต เช่น ประสิทธิภาพการทำงานของคูลลิ่งเทาเวอร์ลดลงเมื่ออุณหภูมิและความชื้นสูงขึ้น ในภาคการเกษตร การวิจัยจากหลายหน่วยงานชี้ถึงผลผลิต (yield) ทางการเกษตรที่ลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะต้องปรับตัวต่อโลกที่ร้อนขึ้น ปลาหลายชนิดก็ได้อพยพไปสู่พื้นที่ที่อุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมต่อการเติบโตและเจริญพันธุ์แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้สัตว์น้ำในทะเลเขตร้อนเช่นประเทศไทยลดลง
การเตรียมการด้านการปรับตัวต่อโลกที่ร้อนขึ้น (adaptation) จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและผลกระทบอื่น ๆ จาก climate change การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างเพื่อลดความร้อนที่จะเข้าในอาคารและลดการสะสมของความร้อนในสิ่งปลูกสร้างที่ก่อให้เกิดเกาะความร้อน (urban heat island)
การออกแบบและก่อสร้างพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานของ EEC รวมถึงการลงทุนที่ประเทศควรคำนึงถึงปัจจัยด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทั้งในด้านอุณหภูมิและในด้านความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย ลมพายุ ที่มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น
โดยข้อดีของการลงทุนในมาตราการปรับตัวที่ได้กล่าวไปข้างต้นส่วนใหญ่จะช่วยลดการใช้พลังงานซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย โดยคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเตรียมการด้านการปรับตัวต่อโลกที่ร้อนขึ้น ยิ่งทำช้าจะยิ่งเจ็บ
บทความโดย
พิมใจ ฮุนตระกูล
ผู้อำนวยการฝ่าย Digital และ New Business Model
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์
[email protected] | EIC Online: www.scbeic.com