นีลเส็น เผยงบโฆษณา ก.ย.ดิ่งหนัก 16% อาหาร-เครื่องดื่ม เปย์เงินพุ่งต่อ
ส่องงบโฆษณากันยายน กลับมาดิ่งหนัก 16% แต่ยังไม่ฉุดภาพพรวมให้ "ติดลบ" นีลเส็น เผยหมวดอาหารเครื่องดื่มยังใช้จ่ายต่อเนื่อง ขณะที่ของใช้ส่วนบุคคล เครื่องสำอาง โตทรงตัว ยานยนต์ยังไม่ฟื้นใช้เงิน หดตัวต่อ เปิดประเทศสัญญาณบวกเงินสะพัด
นีลเส็น เปิดเผยมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาเดือนกันยายนสะพัด 7,949 ล้านบาท ลดลงถึง 16% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เม็ดเงินอยู่ที่ 9,491 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 9 เดือน ยังคงเป็นบวก โดยเม็ดเงินรวมมูลค่า 78,637 ล้านบาท เติบโต 2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีเม็ดเงิน 77,304 ล้านบาท ทั้งนี้ ทีวียังคงเป็นสื่อที่ครองเม็ดเงินโษณาสูงสุดอยู่ที่ 60% มีเม็ดเงิน 47017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%
รองลงมาคือสื่ออินเตอร์เน็ตมูลค่า 17,524 ล้านบาท เติบโต15% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 7,108 ล้นานบาท หดตัว 10% วิทยุ 2,367 ล้านบาท หดตัว 11% สื่อสิ่งพิมพ์ 2,297 ล้านบาท หดตัว 17% สื่อในโรงภาพยนตร์ 1,838 ล้านบาท หดตัว 34% สื่อในห้าง 486 ล้านบาท เติบโต 7%
ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายเงินโฆษณาสูงสุด 9 เดือนแรก ยังเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 13,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% กลุ่มสื่อและการตลาดซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรงมูลค่า 10,333 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า 2359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61% สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน 3443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% ฯ ขณะที่สินค้าเครื่องใช้สวนบุคคลและเครื่องสำอางมีมูลค่า 10,333 ล้านบาท ทรงตัว เป็นต้น
ด้านสินค้าที่ใช้จ่ายลดลง ได้แก่ กลุ่มยานยนต์มูลค่า 4,239 ล้านบาท ลดลง 8% เวชภัณฑ์ยา 4,108 ล้านบาท ลดลง 3% โทรคมนาคมและการสื่อสาร 2,937 ล้านบาท ลดลง 12% กลุ่มการเงิน 2,554 ล้านบาท ลดลง 20% ค้าปลีกและร้านอาหาร 2,150 ล้านบาท ลดลง 10% ภาครัฐ 1,915 ล้านบาท ลดลง 21% เป็นต้น
สำหรับบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด 3 ลำดับแรก ยังเป็นยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มูลค่า 3,671 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามด้วยบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มูลค่า 2,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด
มูลค่า 1,711 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ แคมเปญการตลาดที่ 3 ยักษ์ใหญ่ใช้ ยังเป็นของกินของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม กาแฟปรุงสำเร็จรูปทรี อิน วัน ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะเทไปที่สื่อโทรทัศน์ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง(Mass)
อย่างไรก็ตาม เดือนกันยายนเม็ดเงินโฆษณาตกหนัก แต่เอเยนซี่ ทั้งไอพีจี มีเดียแบรนด์ส และมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ เป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมสื่อโฆษณาอย่างมาก และสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าแบรนด์สินค้าต่างๆ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลกที่มีสินค้าในพอร์ตโฟลิโอมากมาย พร้อมใจปรับแผนเพื่อทำแคมเปญการตลาดให้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2564 อยู่ในภาวะติดลบน้อยลง โดยคาดการณ์มูลค่าทั้งปี(เรทคาร์ด : ราคาโฆษณาที่ตั้งไว้ยังไม่หักส่วนลด แจก แถมต่างๆ) ยังแตะระดับกว่า 1 แสนล้านบาท