“4หุ้นใหญ่” HENG ผนึกกำลังดันธุรกิจโต !
จาก 4 กลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ภาคเหนือ!! ผนึกกำลังเป็น “เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล” หวังนำประสบการณ์กว่า 20 ปี สร้างการเติบโตก้าวกระโดด “จุดขาย” น้องใหม่ไอพีโอ เข้าระดมทุน 19 ต.ค. นี้ “สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์” นายหญิง ลั่นปี 2566 ขยายพอร์ตสินเชื่อรวมแตะ 1.48 หมื่นล้านบาท
“หากต่างคนต่างทำ ตลาด-ฐานทุนถูกจำกัด ดังนั้นคงยากที่ธุรกิจจะเติบโตได้เร็ว !”
นี่คือ “จุดกำเนิด” ของ บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล หรือ HENG ที่มีกลุ่ม "4 กลุ่มนักธุรกิจ" ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในภาคเหนือมารวมตัวกัน ประกอบด้วย “กลุ่มทวีเฮง” ถือหุ้น 36.7% “กลุ่มพัฒนสิน” ถือหุ้น 10% “กลุ่มมิตรเอื้ออารีย์” ถือหุ้น 9.8% และ “กลุ่มสินปราณี” ถือหุ้น 7.6% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่งแต่ละกลุ่มผู้ถือหุ้นมีประสบการณ์ในธุรกิจมานานกว่า 20 ปี !!
“เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล” ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อบุคคลครบทุกรูปแบบ ภายใต้เครื่องหมายบริการ “เฮงลิสซิ่ง” รายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 800,837,300 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.95 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาท เข้าซื้อขาย (เทรด) วันแรก 19 ต.ค. 2564
ณ ปัจจุบัน HENG เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งให้บริการ 1. สินเชื่อเช่าซื้อ 2. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 3. สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน 4.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 5. สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) และ 6.นายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ให้แก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไป
“สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล หรือ HENG เล่าให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า การเข้าระดมทุนในครานี้ ! ถือเป็นการปลดล็อกการดำเนินธุรกิจให้สร้างการเติบโตระดับสูง เนื่องจากเงินระดมทุนจะขยายขีดความสามารถในการลงทุนนี่คือ "ธงผืนใหญ่” เธอบอกเช่นนั้น !!
สะท้อนผ่านแผนธุรกิจ 3 ปี (2564-2566) เตรียมนำเงินระดมทุนไปขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อ ขยายสาขา เพื่อขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้เติบโตตามแผนโตปีละ 28% หรือ ในปี 2566 พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 14,800 ล้านบาท จากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,420 ล้านบาท ประกอบด้วย “สินเชื่อที่มีหลักประกัน” จำนวน 7,901.9 ล้านบาท และ “สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน” จำนวน 517.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 93.8% และ 6.2% ของมูลค่าลูกหนี้รวมของบริษัท ตามลำดับ
โดยเป้าหมายภายในปี 2566 บริษัทต้องการขยายพอร์ตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มเป็น 10% จากปัจจุบัน 6.2% และพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักประกันอยู่ที่ 90% จากปัจจุบัน 93.8%
พร้อมทั้งการขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 830 สาขา คาดใช้เงิน 2 แสนบาทต่อสาขา จากปัจจุบันบริษัทมีสาขาจำนวน 451 สาขา เพื่อครอบคลุมฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ และช่วยสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมตามเป้าหมาย อีกส่วนหนึ่งชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากสถาบันการเงิน ลดภาระหนี้เพื่อลดต้นทุน และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Software และ Mobile Application
“ถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของ HENG ที่จะช่วยเสริมศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน เรานำความเชี่ยวชาญของ 4 กลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี มารวมกันจึงสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน”
เธอ บอกต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมี “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) อยู่ที่ระดับ 3.7% ซึ่งคาดในปี 2566 บริษัทจะคุม NPL ไม่เกิน 2.9% โดยสัดส่วนสินเชื่อทะเบียนรถจะเพิ่มเป็น 48% จากปัจจุบัน 27%
ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายในการอขยายการให้บริการไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ครอบคลุม ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน พร้อมทีมพนักงาน “เฮงลิสซิ่ง” ที่คัดเลือกคนในพื้นที่สาขาให้บริการ ซึ่งเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น ทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยบริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ย (ปี 2561-2563) อยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาท และ 1,450 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน เป็นพอร์ตทรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 44.6% ต่อปี อยู่ที่ 152 ล้านบาท 189 ล้านบาท และ 318 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1.5 เท่า ยังสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาเพิ่มได้ ต้นทุนก็ต่ำลง
ส่วนผลการดำเนินงวด 6 เดือน ปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ มีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีการปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อประจำปีทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมสุทธิก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ/ ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คิดคาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บริษัทจึงตั้งค่าเผื่อเพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) เพื่อรองรับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต
ท้ายสุด “สุธารทิพย์” กล่าวไว้ว่า เรามีแผนเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ผ่านการลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้าน Software และ Mobile Application เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ ควบคู่กับการขยายสาขาของเฮงลิสซิ่งในภูมิภาคต่าง ๆ ไปด้วย