คนไทยแห่ลุยกองทุนหุ้นจีน ไม่หวั่นปัญหา เอเวอร์แกรนด์-รัฐคุมเข้มเอกชน
"มอร์นิ่งสตาร์" เผยคนไทยแห่ลงทุน "หุ้นจีน" สบช่องเอเวอร์แกรนด์-รัฐคุมเข้มเอกชน กดดันตลาดปรับฐาน พบไตรมาส 3/64 เงินไหลเข้าสุทธิ 7.5 พันล้าน และมีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ 1.7 แสนล้าน นำโดยบลจ. กสิกรไทย มีมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้าน รองมาเป็น บลจ.กรุงไทย มูลค่ารวม 2.7 หมื่นล้าน
"มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ประเทศไทย" รายงานภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 3 /2564 สำหรับ "กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)" พบว่า มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสที่ 2 หรือ 50.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 แสนล้านบาท
"ตลาดหุ้นต่างประเทศ" อาจมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาแต่ในภาพรวมนักลงทุนยังทยอยลงทุนต่อเนื่อง โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นต่างประเทศ 4.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท ด้านกองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลออกสุทธิ 3.6 พันล้านบาท ทำให้มีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 9% ของการลงทุนกองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม term fund)
นักลงทุน สบโอกาสเข้าลงทุน "หุ้นจีน"
ช่วงมีปัญหาเอเวอร์แกรนด์-รัฐคุมเข้มเอกชน
จากการที่กองทุนต่างประเทศมีมูลค่า "กองทุนหุ้นจีน" เป็นสัดส่วนสูง ปัจจัยเชิงลบที่เกิดขึ้นกับหุ้นจีน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลที่เกิดขึ้นกับ Didi การออกกฎให้สถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรที่ส่งผลโดยตรงกับสถาบันกวดวิชาหลายแห่ง การจำกัดเวลาเล่นเกมส์กับเยาวชนจีน มาจนถึงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande) ทำให้บรรยากาศการลงทุนหุ้นจีนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก
โดยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมานนี้ กองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนต่ำที่สุดหรือเฉลี่ย -13.9% แต่อย่างไรก็ดีนักลงทุนอาจ มองเป็นโอกาสการลงทุน ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.5 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินลดลง 10.7% จากไตรมาสก่อนไปอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท หรือลงมาอยู่อันดับที่สองในหมวดกองทุนต่างประเทศ
โดย 9 เดือนแรก ของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2564 ) จำนวน 2 ใน 3 ของเงินลงทุนหุ้นจีนมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท เป็นเงินลงทุนสูงสุดใน 5 บลจ. ดังนี้
นำโดย บลจ. กสิกรไทย มีมูลค่ารวม 3.9 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้าในปีนี้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท
ตามมาด้วย บลจ.กรุงไทย มูลค่ารวม 2.7 หมื่นล้านบาท จากเงินไหลเข้าสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้าในไตรมาสแรกและเริ่มมีเงินไหลออกในไตรมาสล่าสุด
ทางด้าน บลจ.ทหารไทย มีมูลค่าทรัพย์สินอันดับ 3 และมีเงินไหลเข้าน้อยกว่า บลจ. อื่นใน 5 อันดับแรก อีกทั้งผลตอบแทนที่ติดลบในปีนี้ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในช่วงที่เกิดข่าวเชิงลบเกี่ยวกับจีนนั้นแต่ละกองทุนอาจได้รับผลกระทบที่มากน้อยแตกต่างกัน หากอ้างอิงกลุ่มกองทุนของ Master fund จะสามารถแบ่งได้ดังนี้ EAA Fund China Equity (จีนและฮ่องกง), EAA Fund China Equity - A Shares, EAA Fund Greater China Equity (จีน ฮ่องกง และไต้หวัน) และ US Fund China Region ซึ่งเป็น ETF ในสหรัฐ โดยกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้น A-shares จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าหรือมีผลตอบแทนเฉลี่ยรอบไตรมาสล่าสุดที่ -9.1% ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในฮ่องกงด้วยจะมีผลตอบแทนแย่กว่า และกลุ่ม ETF จะมีผลตอบแทนติดลบมากที่สุดเฉลี่ย -19.3% เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีน