ถึงเวลา"หุ้นสายการบิน"เตรียมเทคออฟ รับเปิดประเทศ-ไทยเที่ยวไทยคึก
เป็นที่ชัดเจนแล้วหลังนายกฯ ประกาศเตรียมเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พ.ย. นี้ โดยจะเริ่มนำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ 10 ประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี จีน และสิงคโปร์ ที่ได้รับวัคซีนครบโดส
และมีผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย หากผลออกมาเป็นลบหรือไม่พบเชื้อ สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกที่ทั่วประเทศโดยไม่ต้องกักตัว ถือเป็นข่าวดีในการพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวไทย หลังถูกพิษโควิดเล่นงานสาหัสมานาน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเปิดประเทศ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ที่ประชุมศบค. วานนี้ (14 ต.ค.) จึงได้มีมติสำคัญออกมาหลายอย่าง ตั้งแต่การปรับลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 22.00 น. – 04.00 น. เป็น 23.00 น. – 03.00 น. เริ่ม 16 ต.ค. นี้
การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยสนับสนุนการเปิดประเทศ เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ขณะที่คนในประเทศเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ เศรษฐกิจจะค่อยๆ คึกคักขึ้น และในเฟสต่อไป วันที่ 1 ธ.ค. จะให้เปิดสถานบันเทิง และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้แล้ว
แน่นอนว่า “สายการบิน” ถือเป็นด่านแรกในการนำพานักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น เมื่อเปิดประเทศน่าจะช่วยชุบชีวิตธุรกิจการบินให้ฟื้นจากอาการโคม่า หลังถูกโควิดเล่นงานแล้วหลายรอบ จนแทบไม่เหลือสภาพคล่องหล่อเลี้ยงธุรกิจ ผลประกอบการพลิกขาดทุนกันระนาว
ทั้งบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชียในฐานะเจ้าตลาดโลว์คอสต์ ขาดทุนมา 2 ปีติด ปี 2562 ขาดทุน 474 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนต่อ 4,764.09 ล้านบาท มาปีนี้ 6 เดือนแรกขาดทุนไปแล้ว 3,556.46 ล้านบาท เรียกว่าอาการยังสาหัส
ส่วนบางกอกแอร์เวย์สของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA แทบไม่ต่างกัน ปี 2563 พลิกขาดทุนถึง 5,283.18 ล้านบาท ส่วนครึ่งแรกปีนี้ขาดทุนอยู่ 1,431.55 ล้านบาท ด้านบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK อาการยังน่าเป็นห่วงอยู่ในช่วงการฟื้นฟูกิจการ
อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง ขณะที่การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สายการบินในประเทศเริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่เดือนก.ย. ที่ผ่านมา อย่างไทยแอร์เอเชียปัจจุบันเปิดบริการเพิ่มเป็น 20 เส้นทาง สูงสุด 30 เที่ยวบินต่อวัน ส่งผลให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเดือน ก.ย. อยู่ที่ 87% เทียบกับช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ 61%
ขณะที่จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ทั้งผู้โดยสารคนไทยที่เริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลายปี หลังโควิดเริ่มคลี่คลาย นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการเที่ยวของภาครัฐ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 ที่เปิดให้จองห้องพักไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค. และเริ่มเข้าพักตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. จนถึง 31 ม.ค. 2565 โดยจะได้รับเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท
ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศคาดว่าจะค่อยๆ ทยอยกลับมาเปิดให้บริการ ซึ่งปีนี้ทางผู้บริหารของ AAV คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 4 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 และ ปี 2563 ที่ 22.15 ล้านคน และ 9.49 ล้านคน ตามลำดับ ขณะเดียวกันหากบริษัทปรับโครงสร้างเสร็จ นำบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) เข้าจดทะเบียนแทน AAV จะมีเม็ดเงินก้อนใหม่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอีกแรง
ด้านบางกอกแอร์เวย์สทยอยกลับมาเปิดบินรวม 8 เส้นทาง ทั้งสมุย, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สุโขทัย, ลำปาง, ตราด, สิงคโปร์ และสมุยไปกลับภูเก็ต ขณะที่จำนวนผู้โดยสารค่อยๆ เพิ่มขึ้น
หากย้อนดูราคาหุ้น AAV และ BA ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง จากช่วงเดือนส.ค. ที่โควิดระบาดหนัก โดยหุ้น AAV พุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 25% จากราคาปิดเดือนก.ค. ที่ 2.38 บาท ส่วน BA ขึ้นมากว่า 25% เช่นกัน หวังว่าจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว และต้องภาวนาว่าอย่าให้เกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นหลังเปิดประเทศ