ททท.กาง ‘บลูโซน’ เปิดประเทศรับต่างชาติ

ททท.กาง ‘บลูโซน’ เปิดประเทศรับต่างชาติ

ททท.เตรียม 3 แนวทางเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมเปิดพื้นที่บลูโซนนำร่องจูงใจนักท่องเที่ยว-ผู้ประกอบการ

ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ยุทธศักดิ์ สุภสร ระบุ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.จะประกาศรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำในเร็วๆนี้  ส่วนจะมีกี่ประเทศยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ เพราะต้องพิจารณาสถานการณ์ของแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ โดยประเทศไทยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั่วโลก แต่จะมีเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของประเทศต้นทาง และการฉีดวัคซีนของนักท่องเที่ยว

ททท.ได้เน้นย้ำ 3 แนวทางการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบด้วย แนวทางที่ 1 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ จะต้องเดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำที่กำหนดไว้ กรณีเดินทางมาจากประเทศอื่น ให้พำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางเข้าไทย และต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส รวมทั้งตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR จึงจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป 

สำหรับวัคซีนต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO หรือตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และนักท่องเที่ยวต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR

แนวทางที่ 2 นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่พบเชื้อ แต่เดินทางมาจากประเทศความเสี่ยงระดับกลางขึ้นไป ต้องอยู่ในพื้นที่ ‘บลูโซน’ หรือพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วันก่อนไปเที่ยวพื้นที่อื่น และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโดยจำนวนครั้งขึ้นกับไทม์ไลน์ในแต่ละระยะ

ส่วนแนวทางที่ 3 นักท่องเที่ยวที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้เช่นกัน แต่ต้องกักตัวในสถานกักกันโรคที่รัฐบาลจัดสรรไว้ โดยหากเดินทางทางอากาศ ต้องกักตัว 10 วัน เดินทางทางบกต้องกักตัว 14 วัน

สำหรับการเปิดพื้นที่บลูโซนถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสร้างแรงจูงใจแก่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคต่างจากมาตรการตามระดับของ ศบค. และสามารถกำหนดหรือปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้เป็นไปตามระดับการจัดการตามพื้นที่เฝ้าระวังได้เอง โดยสามารถเปิดกิจกรรมได้ทุกประเภท ยกเว้นสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกันที่ยังไม่อนุญาตให้เปิด รวมถึงห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 500 คน

ไทม์ไลน์การเปิดบลูโซน จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะตามที่ ศบค.ประกาศก่อนหน้านี้ คือ ระยะนำร่อง ตั้งแต่ 1-31 ตุลาคม 2564 จำนวน  4 จังหวัด คือ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า พังงา พื้นที่เขาหลักและเกาะยาว และกระบี่ พื้นที่เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล

ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 เปิดอีก 15 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่หัวหิน และหนองแก เพชรบุรี พื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ ชลบุรี พื้นที่พัทยา อ.บางละมุง ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่ เกาะสีชัง และ อ.ศรีราชา) ระนอง พื้นที่เกาะพยาม เชียงใหม่ พื้นที่อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง และ อ.ดอยเต่า เลย พื้นที่เชียงคาน บุรีรัมย์ พื้นที่ อ.เมือง หนองคาย พื้นที่ อ.เมือง อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ และ อ.สังคม อุดรธานี พื้นที่ อ.เมือง อ.นายูง อ.หนองหาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.กุมภวาปี และ อ.บ้านดุง ระยอง พื้นที่เกาะเสม็ด และตราด พื้นที่เกาะช้าง

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1-31 ธันวาคม 2564 เปิดอีก 16 จังหวัด คือ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส 

และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 เปิดอีก 12 จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล 

อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่บลูโซนขึ้นกับความพร้อม ไม่จำเป็นต้องเปิดให้ได้ตามแผนทุกจังหวัด โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นได้เกิน 70% ซึ่งเน้นไปที่ประชาชนกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงความพร้อมด้านสาธารณสุข อัตราการครองเตียงเหลืองแดงต้องไม่เกิน 80% สัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะต้องไม่เกิน 5-10 คน ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนต่อวัน