ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง หลังวิกฤตพลังงานขาดแคลน

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง หลังวิกฤตพลังงานขาดแคลน

ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-87 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง หลังวิกฤตพลังงานขาดแคลน

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 – 22 ต.ค. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง หลังวิกฤตพลังงานขาดแคลนทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและจีน ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินอยู่ในระดับสูง รวมถึงความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังหลายประเทศเริ่มเปิดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ อุปทานการผลิตน้ำมันดิบจากโอเปคและผู้ผลิตนอกโอเปค เพิ่มขึ้นในระดับจำกัด ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบตึงตัว อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันดิบ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับก่อนเกิด Hurricane แล้ว ประกอบกับ สถานการณ์เงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลกดดันให้สหรัฐฯ อาจจะต้องมีการออกนโยบายที่จะสกัดราคาน้ำมันให้ปรับลดลง        

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-  ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นราว 0.5 – 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในช่วงฤดูหนาว สะท้อนได้จากระดับสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ อุปทานการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (OPEC+) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพียงเดือนละ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น จึงส่งผลให้ตลาดน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องติดตามการประชุมของกลุ่มผู้ผลิตครั้งถัดไปในวันที่ 4 พ.ย.64 ว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่านี้หรือไม่
 

อ่านข่าว : วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (18 ต.ค. 64)

 

 

- ในรายงานฉบับเดือน ต.ค. 64 กลุ่มโอเปกปรับลดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกปี 2564 จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเหลือ 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ประมาณการโดย IMF โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดิม 6.0% เหลือ 5.9% สำหรับปี 2565 กลุ่มผู้ผลิตคงการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในระดับเดิมที่ 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องที่ราว 4.9% จากปีก่อนหน้าเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นหลังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีขึ้น รวมถึง การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
-  ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศ ขณะที่ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นกลับมาสู่ระดับก่อนเกิด Hurricane แล้วเนื่องจากผู้ผลิตสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 8 ต.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.0 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 426.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 11.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบในสัปดาห์ก่อนหน้าปรับลดลง 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

 

-  จับตาสหรัฐฯ ว่าจะมีการออกนโยบายเพิ่มเติมในการสกัดราคาน้ำมันในประเทศและค่าเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยล่าสุดสหรัฐฯ มีการเรียกประชุมด่วน เพื่อหารือถึงมาตรการในการรับมือ อาทิเช่น การปล่อยน้ำมันออกมาจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) การระงับการส่งออกน้ำมันดิบ และการหารือกับผู้ผลิตน้ำมันดิบในประเทศ
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่หกติดต่อกัน โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 8 ต.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 12 แท่นไปอยู่ที่ระดับ 445 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 
-  จับตาความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือไม่ หลังสหภาพยุโรปจะมีการเดินทางไปอิหร่านเพื่อหารือประเด็นต่างๆ รวมถึง ข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายไปแล้วกว่า 6 รอบในกรุงเวียนนา แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุป ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายสามารถกลับมาดำเนินการเจรจาและบรรลุข้อตกลงได้จะส่งผลให้อิหร่านสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและการส่งออกขึ้นได้ราว 1.0 – 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะสามรถบรรลุข้อตกลงได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า
-  เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ GDP ไตรมาส 3/64 ของจีน ปริมาณภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกของจีน เดือน ก.ย. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 64 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการยูโรโซน เดือน ต.ค. 64

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 15 ต.ค. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.93 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 82.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 84.86 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 83.17 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบประวัติการณ์ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากแถลงการณ์ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ที่ยังไม่ได้มีแผนที่ชัดเจนในการสกัดราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจาก ปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการใช้ปรับตัวลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในประเทศ