TIPH รุกดิจิทัลอินชัวรันส์ เต็มรูปแบบ จ่อตั้งบ.ใหม่คาดแล้วเสร็จกลางปี65
“ทิพย กรุ๊ป” จ่อตั้งบริษัทใหม่ “ดิจิทัลอินชัวรันส์” คาดกระบวนการร่วมทุนกับประกันภัยที่มีไลเซ่นส์ แล้วเสร็จในกลางปี 65 และเล็งปิดดีล 3 บริษัทใหม่ในสิ้นปีนี้ รับเทรนด์เติบโตในอนาคต ยันกองทุนไร้กระทบ พร้อมรับโอนลูกค้าถือกรมธรรม์โควิด “เอเชียประกันภัย”
นายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้า หลังจัดตั้ง “ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” แล้วนั้น ตามแผนการขยายธุรกิจในปี 2565 บริษัทเตรียมจัดตั้ง บริษัทประกันภัยรูปแบบใหม่ ที่เป็น “ดิจิทัลอินชัวรันส์” เต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยกระบวนการจัดตั้งและร่วมทุนกับบริษัทประกันที่มีใบอนุญาตอยู่แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565
ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยรูปแบบใหม่ที่เป็นดิจิทัลอินชัวรันส์ จะเป็นการทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัลบนออนไลน์ 100% เพื่อรองรับลูกค้าเป้าหมายที่ปัจจุบันมีความพร้อมที่จะซื้อประกันภัยบนออนไลน์โดยตรง ซึ่งเป็นฐานลูกค้าคนละกลุ่มกับลูกค้าบริษัททิพยประกันภัย เพราะลูกค้าของบริษัททิพยประกันภัย ต้องการบริการแบบพรีเมียมและแบบตัวต่อตัว ดังนั้นกลุ่มลูกค้าจะไม่ทับซ้อนกัน ส่วนการรับประกันของบริษัทใหม่ที่เป็นดิจิทัลอินชัวรันส์ จะเริ่มจากการรับประกันรถยนต์ บ้านที่อยู่อาศัย สุขภาพและเดินทางท่องเที่ยว เป็นต้น
ขณะเดียวกันปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเข้าถือหุ้นร่วมทุนใน 3 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย ได้แก่ ช่องทางการรับประกันภัย (นายหน้าประกันภัย) ,การบริหารจัดการเคลมและการพัฒนาบุคลากร คาดว่ากระบวนการร่วมทุนทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้และเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้าตามแผนที่วางไว้ เพื่อรองรับการขยายตัวของทิพย กรุ๊ป ในอนาคต
พร้อมกันนี้ ล่าสุด บริษัททิพยประกันภัย ขอยืนยันการรับโอนลูกค้าถือกรมธรรม์โควิดจากบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เป็น 1 ใน 13 บริษัทประกันวินาศภัย ที่ให้ความช่วยเหลือตามโครงการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในครั้งนี้นั้น ไม่กระทบฐานะการเงินของบริษัทแต่อย่างใด และบริษัทพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพื่อเป็นทางเลืือกสำหรับลูกค้าประกันโควิดของเอเชียประกันภัยกว่า 7.7 แสนคน ที่ความคุ้มครองยังไม่สิ้นสุด
ปัจจุบันบริษัททิพยประกันภัย มีอัตราส่วนกองทุน (คาร์เรโช) อยู่ระดับสูงถึง 263% รวมถึงการขายประกันโควิดของบริษัท เป็นรูปแบบความคุ้มค่าค่ารักษาพยาบาลหรือโคม่า ไม่มีแบบเจอจ่ายจบ อีกทั้งยังมีการทำประกันภัยต่อต่างประเทศ ในสัดส่วนมากกว่า 50% รองรับไว้แล้ว จึงไม่ได้มีความกังวลในสถานการณ์เช่นนี้
ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประกันภัยโควิดทั้งสิ้น 5 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 2.5 พันล้านบาท มีลูกค้าใช้สิทธิ์เรียกร้องสินไหมแล้ว 5 หมื่นราย คิดเป็นการจ่ายสินไหม 2 พันล้านบาท ซึ่งกรณีขั้นเลวร้ายสุุดประเมินการจ่ายสินไหมไว้ไม่เกิน 3 พันล้านบาท
ส่วนกรณีการซื้อประกันภัยไซเบอร์นั้น บริษัทคาดว่า จะได้รับความนิยมมากขึ้น หลังเกิดกรณีการตัดเงินที่ผิดปกติ ผ่านบัตรเครดิต และ บัตรเดบิตของลูกค้าธนาคารพาณิชย์เป็นจำนวนมาก โดยสถิติพบว่าการโจรกรรมในไทยมีอัตราที่สูงขึ้นทุกปี หรือ เพิ่มขึ้น 30-40% ซึ่งรูปแบบการโจรกรรมแตกต่างไปจากเดิม โดยเปลี่ยนมาทำกับประชาชนมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่