เปิดปม “สัมปทานสายสีเขียว” คมนาคมเบรกดัง ก่อนขึ้นโต๊ะ ครม.
เปิดปมวาระ ครม.พิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว แตะเบรกก่อนเสนอขึ้นโต๊ะประชุม 19 ต.ค.ที่ผ่านมา คมนาคมทักท้วง 4 ประเด็น พร้อมขอความชัดเจนขยายสัมปทานเร็วเกิน – จ้างเอกชนติดตั้งระบบเดินรถ ส่อขัดกฎหมาย
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดต้องถอนเรื่องออกจากวาระพิจารณา เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีข้อทักท้วงเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องดังกล่าวขัดต่อระเบียบกฎหมายและ มติ ครม.ที่อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับวาระพิจารณาดังกล่าว เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาเป็นเวลานาน โดยในช่วงที่ผ่านมามีการหยิบยกเรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกระทรวงมหาดไทย มาขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปในการประชุม ครม. รวม 7 ครั้ง และก่อนหน้านี้ เมื่อ 13 ส.ค.2563 เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่มีการถอนเรื่องออกสู่การพิจารณา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าสาเหตุการถอนเรื่องไม่ได้มาจากกระทรวงคมนาคมขัดขวางการนำเสนอ ครม.เพราะเลขาธิการ ครม.ได้แจ้งก่อนเข้าวาระว่ากระทรวงมหาดไทยขอถอนเรื่องแต่ไม่ได้แจ้งสาเหตุ โดยกระทรวงคมนาคมยังยืนยันประเด็นที่เคยเสนอทักท้วงการต่อสัญญา 4 เรื่องที่เสนอไปก่อนหน้านี้
“กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาว่า ดำเนินการครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายและมติ ครม.เรียบร้อยแล้วหรือไม่ ซึ่งได้มีข้อทักท้วงเพราะเห็นว่าการดำเนินการในประเด็นนี้ยังไม่ครบถ้วนตามระเบียบกฎหมายและมติ ครม.”
สำหรับข้อทักท้วง 4 ประเด็นของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย
1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
2.ประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท
3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา
4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน
อย่างไรก็ดีในรายงานที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาครั้งล่าสุด มีการระบุถึงความเห็นของกระทรวงคมนาคม ที่ทักท้วงการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มเติม อาทิ
ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าไปติดตั้งระบบไฟฟ้าและการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 กระทรวงคมนาคมขอความชัดเจนเกี่ยวกับ กทม.ว่าจ้างเอกชนเข้าไปติดตั้งระบบไฟฟ้าและการเดินรถ ในปี 2559 ในขณะที่ ครม.เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำหน่ายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม.เมื่อ 26 พ.ย.2561 ดังนั้นขอให้ กทม.ชี้แจงว่าการว่าจ้างดังกล่าวดำเนินการภายใต้กฎหมายหรือระเบียบฉบับใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับการชี้แจงจาก กทม.
ด้านกรอบระยะเวลาในการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชน กทม.ระหว่าง กทม.กับผู้รับสัมปทาน เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2534 หรือสัญญาสัมปทานฉบับเดิม ที่กำหนดว่าหากบริษัทประสงค์จะขอให้ กทม.ขยายอายุสัญญา จะต้องแจ้งความประสงค์ไปยัง กทม.ในเวลาไม่มากกว่า 5 ปีและไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันสิ้นสุดสัญญา และต้องได้รับอนุมัติจาก ครม. ซึ่งไม่สอดคล้องกับการดำเนินการของ กทม.ในขณะนี้ ที่เสนอให้มีการขยายอายุสัญญาเร็วกว่าสัญญาเดิมจะหมดมากกว่า 5 ปี
ขณะที่การเสนอขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้พิจารณาความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. และจัดทำคำชี้แจงรายละเอียด 4 ประเด็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับ 4 ประเด็นที่กระทรวงคมนาคมขอรายละเอียดไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย
1.การดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นที่เคยมีการทักท้วงเรื่องการดำเนินการให้ครบถ้วนตามหลักการของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (ตามมาตรา 46 และมาตรา 47) เนื่องจากในขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนไม่มีการเสนอความเห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานควรประกวดราคาหรือควรเจรจาต่อรองกับเอกชนรายเดิม
โดยประเด็นดังกล่าว กทม.ยืนยันว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาต (คศช.) มีความคล้ายคลึงกับการแก้ไขสัญญาตามมาตรา 46 และมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ อีกทั้งคำสั่งหัวหน้า คศช.ยังกำหนดให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชนหรือผู้ใช้บริการ ซึ่งการเจรจากับเอกชนรายเดิมเสนอผลประโยชน์ตอบแทนภาครัฐ 2.8 แสนล้านบาท
2.อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชน จากประเด็นข้อทักท้วงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงกว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กทม.ชี้แจงว่า อัตราค่าโดยสารสายสีเขียวในเส้นทางหลัก มีการกำหนดสูงสุดไว้ไม่เกิน 45 บาท และหากมีการเดินทางข้ามช่วงค่าโดยสารจะกำหนดไว้ต่อเนื่องจาก 45 บาทและสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
ในขณะที่สายสีน้ำเงินสูงสุดไม่เกิน 42 บาท แต่เมื่อเทียบอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสาย พบว่า ค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน คือ ต่ำกว่า 30 บาทต่อเที่ยว แต่สายสีเขียวเดินทางได้ไกลสุด 55 กิโลเมตร 48 สถานี คิดอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 1.18 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่สายสีน้ำเงิน มีระยะทาง 48 กิโลเมตร คิดอัตราค่าโดยสารเฉลี่ย 1.62 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้นค่าโดยสารเฉลี่ยของสายสีเขียวจึงถูกกว่าสายสีน้ำเงิน
3.การใช้ทรัพย์สินของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในประเด็นทักท้วงที่ระบุว่าควรพิจารณาให้เกิดความชัดเจนถึงการใช้ทรัพย์สินว่า รัฐได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าใด อย่างไร จนครบอายุสัญญาเพื่อป้องกันมิให้รัฐเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับและประโยชน์อันพึงมีที่จะตกแก่ประชาชน กทม.ยืนยันว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการในปี 2602 และภาระการดูแลรักษา การซ่อมบำรุง และการจัดการทรัพย์สินทั้งหมด เป็นภาระและค่าใช้จ่ายของเอกชน
และ 4.ข้อพิพาททางกฎหมาย ที่มีการทักท้วงเกี่ยวกับกรณีที่มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยประเด็นดังกล่าว กทม.ชี้แจงว่า การไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.จากการที่ กทม.ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า)
และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) ไปจนถึงปี 2585 จะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างต่อสัญญาหรือไม่ ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 เท่านั้น ประกอบกับการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงเป็นการพิจารณากล่าวโทษส่วนบุคคลเท่านั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถที่ทำกับเอกชนคู่สัญญา
ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เผยว่า บีทีเอสยืนยันว่าไม่ได้มีการกดดันให้มีการต่อสัมปทานเพื่อแลกกับมูลหนี้ที่ กทม.ค้างจ่ายอยู่รวม 3.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเรื่องการติดตามหนี้สินค้างจ่ายเป็นเรื่องที่บีทีเอสดำเนินการมานานแล้ว เป็นการดำเนินการตามระเบียบข้อกฎหมายที่สามารถทำได้ เนื่องจากบริษัทฯ ต้องแบกรับต้นทุนการเดินรถมาเป็นเวลานาน
ส่วนกรณีที่มีการระบุถึงการขยายอายุสัมปทานที่ตามสัญญากำหนดต้องเสนอในเวลาไม่มากกว่า 5 ปี และไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันสิ้นสุดสัญญานั้น เบื้องต้นทราบว่าเป็นข้อกำหนดในกรณีที่เอกชนต้องการขอให้รัฐขยายอายุสัญญา แต่เนื่องจากกรณีนี้เป็นข้อเสนอของทางภาครัฐเอง ซึ่งไม่ได้มีข้อกำหนดในลักษณะนี้