“เทโร สบาย” ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ เสริมแกร่งอีโคซิสเทมการตลาดครบวงจร
เทโรฯ ร่วมทุน สบาย เทคโนโลยี ตั้งบริษัทใหม่ รุกธุรกิจสื่อโฆษณา เสริมแกร่งอีโคซิสเทม หนุนการทำตลาดครบวงจร พร้อมเก็บบิ๊กดาต้า ต่อยอดสินค้าและบริการเใหม่เสิร์ฟผู้บริโภค มองโอกาสซีนเนอร์ยี "พันธมิตร" เทโร ขยายอาณาจักรเพิ่มในอนาคต
2 ปีที่ผ่านมา เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากท่ามกลางวิกฤติโควิด โดยเฉพาะการย้ายจากวิก 3 พระราม 4 มาซบวิกหมอชิต หรือช่อง 7 ขณะที่ธุรกิจเสาหลักสำคัญอย่างโชว์บิส อีเวนท์ คอนเสิร์ตจากต่างประเทศหายเกลี้ยงจัดไม่ได้ เป็นต้น
ล่าสุด เทโรฯ มีความเคลื่อนไหวสำคัญ เมื่อได้ร่วมทุนกับ สบาย เทคโนโลยี ตั้งบริษัท เทโร สบาย ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ถือหุ้นฝ่ายละ 50% เท่ากัน
ไบรอัน แอล มาร์การ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า รู้จักกับซีอีโอของสบายเป็นเวลานาน และได้หารือร่วมมือทางธุรกิจช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยจุดแข็งของเทโร คือทำรายการทีวีออกอากาศทางช่อง 7 มีสื่อวิทยุในมือหลายคลื่น ทำอีเวนท์ต่างๆทั้งคอนเสิร์ต รวมถึงสโมสรฟุตบอล ทำไทยทิกเก็ตเมเจอร์ฯ มีฐานลูกค้าเกินครึ่งประเทศ แต่ที่ผ่านมาการทำธุรกิจไม่เคยปิดการขายหรือคอนเวอร์ชั่นได้เลย ทั้งที่ผู้บริโภคมีโอกาสเห็นสื่อโฆษณาของเทโรจำนวนมาก
ทั้งนี้ การร่วมมือกับสบาย เทคโนโลยี จึงช่วยต่อยอดธุรกิจให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆสะดวกสบายมากขึ้น ขณะเดียวกันการซีนเนอร์ยีจะครอบคลุมถึงบริการด้านการเงิน เช่น เมื่อซื้อตั๋วผ่านตู้ไทยทิกเก็ตเมเจอร์กว่า 56,000 ตู้ เพื่อรับชมคอนเสิร์ต สามารถใช้สายรัดข้อมูลเหมือนเป็นคูปองเงินสดซื้ออาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการเช็กอินผ่านออนไลน์ต่างๆ ซึ่งบริการดังกล่าวจะไม่จำกัดแค่ไทย พร้อมขยายสู่อาเซียนด้วย เนื่องจากบริษัทเป็นผู้จำหน่ายตั๋วชมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนหรือเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ
นอกจากนี้ การให้บริการต่างๆที่จะเกิดขึ้น ยังทำให้บริษัทสามารถเก็บฐานข้อมูล(บิ๊กดาต้า)ผู้บริโภค เพื่อนำไปต่อยอดในการทำตลาด โฆษณาสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้า เช่น อาหารและเครื่องดื่มพร้อมความบันเทิง รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายต่อเนื่องด้วย
ขณะที่ภาพรวมของเทโรฯ โควิดกระทบต่อธุรกิจหลายด้าน เช่น ไม่สามารถจัดคอนเสิร์ต โชว์บิสได้ แต่ไตรมาส 3 ปีหน้าคาดว่าจะนำเข้าคอนเสิร์ตจากต่างประเทศมาจัดอีกครั้ง ธุรกิจโรงภาพยนตร์ปิดตัวหลายเดือน ทำให้ธุรกิจ 2 ส่วนนี้หดตัวลง ขณะที่รายการทีวีมีออกอากาศช่อง 7 รวม 6 วัน ขาดแค่ช่วงเวลาวันศุกร์ วิทยุคลื่นอีซี่ เอฟเอ็ม ยังเป็นเบอร์ 1 เพลงสากล ฮิตซ์ 95.5 ยังมีผู้ฟังออนไลน์เฉลี่ย 4-6 ล้านครั้งต่อเดือน โดยธุรกิจที่ขยายตัวดีคืออีคอมเมิร์ซไทยแลนด์โพสต์มาร์ท ซึ่งเทโรร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยยังขยายตัวดีมาก
ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกับเทโรฯ ช่วยต่อจิ๊กซอว์อีโคซิสเทมของบริษัทมีความครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการสื่อโฆษณา เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า(ซีอาร์เอ็ม)ผ่านฐานลูกค้าราว 30 ล้านรายทั่วประเทศ
นอกจากนี้ จะเห็นการซีนเนอร์ยีนำลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์ของทั้ง 2 บริษัทไปพัฒนาสินค้าใหม่จำหน่ายเอ็กซ์คลูสีพผ่านช่องทางออฟไลน์ของสบายมากขึ้น เช่น การคาแร็กเตอร์การ์ตูนวันพีซ ไปอยู่บนน้ำดื่ม ขายผ่านตู้อัตโนมัตซึ่งมีกว่า 6,000 ตู้ ครบคลุม 21 จังหวัดทั่วประเทศ และมีส่วนแบ่งตลาด 20-25% จากปีนี้บริษัทได้ลิขสิทธิ์โดราเอมอนมาทำตลาดขายน้ำดื่มได้ 4-5 ล้านขวดแล้ว
“การซีนเนอร์ยีกับโทโร จะช่วยต่อยอดฐานลูกค้าทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่เหมาะสมตอบโจทย์ลูกค้า อย่างไรก็ตาม การตั้งบริษัทร่วมทุน เทโรสบาย เราคาดหวัง 3 เรื่อง ได้แก่ 1.มอบประสบการณ์ออนไลน์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ไปรวมในอีโคซิสเทม 2.เป็นช่องทางนำเพย์เมนท์และเทคโนโลยีของสบายไปอยู่กับพันมิตรเทโร เช่น เครือโรงหนังเมเจอร์ ไทยทิกเก็ตเมเจอร์ ไปรษณีย์ไทย และ 3.การสร้างบริการตลาดที่ครบวงจรตั้งแต่สร้างแบรนด์ ทำตลาดออนไลน์ และขายสินค้าออฟไฟน์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทำ แต่ตลาดดังกล่าวใหญ่มาก”