หลักการสิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล (ESG) ในภาคการเงิน
"ภาคการเงิน" ในฐานะเป็นตัวกลางการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่มีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก หน่วยงานในภาคการเงินในแต่ละประเทศได้นำแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงประเด็น ESG มาผนวกในกระบวนการตัดสินใจลงทุนด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก หน่วยงานในภาคการเงินในแต่ละประเทศได้นำแนวทางการดำเนินงานที่คำนึงถึงประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มาผนวกในกระบวนการตัดสินใจลงทุน การพิจารณาให้สินเชื่อ การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการประกันภัย ฯลฯ
ในประเทศไทย หน่วยงานทางการเงินทั้งในภาครัฐและในภาคเอกชน ได้ขานรับเอาแนวทาง ESG ดังกล่าว มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงาน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ให้สามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงและคงไว้ซึ่งขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว
นอกจากที่หน่วยงานในภาคการเงินไทยจะได้นำเอาแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินไทย มาใช้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในบริบทของประเทศแล้ว ก็ควรที่จะนำหลักการในภาคการเงินที่เป็นสากล มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อยกระดับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ
โดยหลักการสำคัญที่เกี่ยวกับ ESG ในภาคการเงินซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ประกอบด้วย
หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) ที่ได้รับการผลักดันโดยอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน เมื่อปี ค.ศ.2006 โดยมีหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติสองแห่ง คือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP-FI) และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) ให้การสนับสนุน ประกอบด้วย หลัก 6 ประการ ได้แก่ 1) การผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในการวิเคราะห์และกระบวนการตัดสินใจลงทุน 2) การใช้สิทธ์ออกเสียงในฐานะผู้ถือครองหลักทรัพย์ และผนวกประเด็น ESG เข้าไว้ในนโยบายและข้อปฏิบัติในการถือครองหลักทรัพย์ 3) การเสาะหารายการเปิดเผยข้อมูลในประเด็น ESG อย่างเหมาะสมจากกิจการที่เข้าไปลงทุน 4) การส่งเสริมให้เกิดการรับและนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปใช้ในแวดวงการลงทุน 5) การทำงานร่วมกันเพื่อขยายประสิทธิผลของการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติ 6) การรายงานกิจกรรมและความก้าวหน้าในการนำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบไปปฏิบัติในรายกิจการ
ปัจจุบัน มีหน่วยงานในภาคการเงินที่รับหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ไปใช้แล้วจำนวนกว่า 4,000 แห่ง โดยมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันราว 121 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (PRI, ก.ค. 64)
หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance: PSI) ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI) เมื่อปี ค.ศ.2012 ประกอบด้วย 4 หลักการสำคัญ ได้แก่ 1) การผนวกประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันภัย เข้าไว้ในกระบวนการตัดสินใจ 2) การทำงานร่วมกับลูกค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ ในการยกระดับการรับรู้ที่มีต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การจัดการความเสี่ยงภัย และการพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน 3) การทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้มีส่วนได้เสียหลักอื่นๆ ในการส่งเสริมการดำเนินงานในประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างกว้างขวาง 4) การแสดงให้เห็นถึงความสำนึกรับผิดชอบและความโปร่งใสในการเปิดเผยความคืบหน้าของการนำหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน ไปปฏิบัติแก่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจุบัน มีหน่วยงานในภาคการเงินที่รับหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน ไปใช้แล้วจำนวนกว่า 180 แห่ง รวมผู้รับประกันภัยที่ถือสัดส่วนเบี้ยประกันภัยอยู่เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลก และมีขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) รวมกันราว 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (PSI, ก.ค. 64)
หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ที่จัดทำโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP-FI) เมื่อปี ค.ศ.2019 ประกอบด้วย 6 หลักการสำคัญที่ครอบคลุมในด้าน 1) การปรับแนวทาง (Alignment) 2) ผลกระทบและการกำหนดเป้าหมาย (Impact & Target Setting) 3) ลูกค้าประจำและผู้ใช้บริการ (Clients & Customers) 4) ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) 5) ธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรม (Governance & Culture) 6) ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability)
ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินที่รับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ไปใช้แล้วจำนวนกว่า 250 แห่ง โดยมีขนาดสินทรัพย์รวมกันราว 65 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารทั่วโลก (PRB, ก.ย. 64)
และเป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีสถาบันการเงินของไทย ได้เข้าร่วมรับหลักการดังกล่าวข้างต้น ไปใช้ดำเนินงานแล้ว อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสิน และเนื่องจากการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ได้กลายเป็นทางหลักของการพัฒนาในยุคนี้ มิใช่เป็นทางเลือกสำหรับภาคการเงินอีกต่อไป เราคงจะได้เห็นธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ เข้าร่วมขบวนมากขึ้นนับจากนี้