MAKRO จ่อซื้อ "ธุรกิจรีเทล" ต่างประเทศ ดันเติบโต !

MAKRO จ่อซื้อ "ธุรกิจรีเทล" ต่างประเทศ ดันเติบโต !

"สยามแม็คโคร-โลตัสส์" กำลังเร่งต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจขยายสาขาในและต่างประเทศ เล็งซื้อกิจการ "รีเทล" และผนึก “กลุ่มซีพี” สร้างการเติบโตครั้งใหม่ ลั่นไม่อยากเป็นผู้เล่นแค่ในไทยแล้ว !

12 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO มีมติอนุมัติรับโอนกิจการทั้งหมดของ “โลตัสส์” (Lotus’s) ในประเทศไทยและมาเลเซียเสร็จเรียบร้อยแล้ว ! ดังนั้น ในเกมธุรกิจต่อไปจะเป็นเกมของการ “ผนึกกำลัง” (Synergy) ของแต่ละธุรกิจในกลุ่มอย่างแท้จริงและมาเป็นอันดับแรก โดยจะเห็นผลชัดในระยะไม่เกิน 2 ปีจากนี้...   

“สุชาดา อิทธิจารุกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังเร่งต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจของทั้งในส่วนของ “แม็คโคร-โลตัสส์” ด้วยการ “ดึงศักยภาพ” ของธุรกิจทั้งคู่คือจากธุรกิจ B2B (แม็คโคร) และธุรกิจ B2C (โลตัสส์) เพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหญ่ !! อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต 

ดังนั้น บริษัทจึงเตรียมความพร้อมรองรับ “โอกาส” เติบโต ในแง่ของสรรพกำลังด้าน “เงินทุน” ด้วยช่องทางการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (PO) โดยหลังจากรับโอนกิจการแล้วบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขอออกหุ้นเพิ่มทุน PO ส่วนจะสามารถเสนอขาย PO ได้เมื่อใดขึ้นกับการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดยื่นได้ต้นเดือนพ.ย. 2564 เนื่องจากวางเป้าหมายจะขายหุ้น PO ภายในปี 2564

โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญของ MAKRO ที่ตนถืออยู่บางส่วน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เป็นไม่น้อยกว่า 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ส่งผลดีต่อหุ้น MAKRO มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่เพิ่มขึ้น สภาพคล่องการซื้อขายที่ดีขึ้น รวมถึงมีโอกาสคำนวณในดัชนีสำคัญ เช่น SET 50 

สะท้อนผ่านแผนธุรกิจระยะ 5 ปี (2564-2568) บริษัทวางงบลงทุนประมาณ 130,000 ล้านบาท โดยเบ่งเป็นงบลงทุนกลุ่มแม็คโครประมาณ 60,000 ล้านบาท และกลุ่มโลตัสส์ประมาณ 70,000 ล้านบาท จากการขยายสาขาทั้งใน-ต่างประเทศ และการลงทุนด้านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสู่เป้าหมายเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียนใน 5 ปี ในด้านช่องทาง “ออนไลน์และออฟไลน์” (O2O) ในประเภทสินค้าที่บริษัทมีความถนัด ซึ่งการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ผสมผสานการขายสินค้าผ่านช่องทาง O2O เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่ต้องการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าและบริการ 

MAKRO จ่อซื้อ \"ธุรกิจรีเทล\" ต่างประเทศ ดันเติบโต ! อย่างไรก็ตาม การรวมกันในครั้งนี้ ! จะช่วยประหยัดต้นทุนเนื่องจากบ้างอย่างสามารถใช้ร่วมกันได้ และเป็นตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงสามารถใช้ความเชี่ยวชาญด้านการคัดสรรและจัดซื้อ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนยกระดับ “ห่วงโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติได้

“ตอนนี้เราไม่อยากเป็นผู้เล่นแค่ในเมืองไทยแล้ว แต่เรากำลังดึงศักยภาพของทั้งแม็คโครและโลตัสส์ เพื่อขยายการเติบโตทั้งในและต่างประเทศต่อไป” 

เธอ บอกต่อว่า แผนขยายลงทุนในและต่างประเทศ โดย “ในประเทศ” จะเน้นลงทุนขยายสาขาขนาดกลาง-เล็ก เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในระดับตำบลมากขึ้น ขณะที่ “ต่างประเทศ” บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ในปี 2568 แตะ 10% เดิม 5% จากการขยายสาขาควบคู่ทั้งแม็คโครและโลตัสส์ ปัจจุบันมีสาขาแม็คโครใน 4 ประเทศ จำนวน 7 สาขา ได้แก่ กัมพูชา 2 สาขา เมียนมา 1 สาขา อินเดีย 3 สาขา และจีน 1 สาขา ส่วนโลตัสส์มีสาขาแค่ประเทศมาเลเซีย 

ดังนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมองเห็นโอกาสเติบโตอีกมหาศาล โดยปัจจุบันบริษัทมีทีมต่างประเทศในการศึกษาตลาดทั้งตลาดที่แม็คโครขยายสาขาไปแล้ว หรือ ตลาดประเทศใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าไป โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจของโลตัสส์หากมีช่องทางลงทุนบริษัทพร้อมที่จะขยายสาขาโลตัสส์เข้าไป 

MAKRO จ่อซื้อ \"ธุรกิจรีเทล\" ต่างประเทศ ดันเติบโต ! อย่างไรก็ตาม ในแผน 5 ปี มีโอกาสเห็นธุรกิจโลตัสส์ขยายสาขาเข้าไปในประเทศที่แม็คโครไปลงทุนแล้ว เพียงแต่ธุรกิจของโลตัสส์เป็นธุรกิจรีเทล (B2C) ที่มีข้อกฎหมายไม่เปิดกว้างในการทำธุรกิจเหมือนธุรกิจ B2B เนื่องจากต้องการลงทุนจะต้องมีพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ ร่วมลงทุนด้วยไม่สามารถลงทุนเองได้ 100% ดังนั้น การขยายสาขาโลตัสส์ต่างประเทศจำเป็นต้องมีพันธมิตร่วมทุนด้วย หรือ การซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจรีเทลในประเทศดังกล่าวเข้ามาเพื่อร่วมมือกัน   

“มีโอกาสเป็นไปได้ทุกแนวทางขึ้นอยู่ที่เราจะหยิบยกโมเดลธุรกิจรูปแบบไหนมาใช้ จะเป็นการร่วมมือพาร์ทเนอร์ หรือ เทคโอเวอร์ธุรกิจรีเทล” 

นอกจากการผนึกกำลังในกลุ่มธุรกิจของแม็คโครเองแล้ว ปัจจุบันยังมี “การใช้ขุมพลัง” ของกลุ่มบริษัทใน “เครือซีพี” (CP) อีกด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนการเติบโตของแม็คโครในอนาคต อาทิ อยู่ระหว่างการร่วมมือกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เนื่องจาก TRUE มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ในด้านเทคโนโลยี 

หรือในแง่ของสินค้าบริษัทมีความร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด โดยบริษัทมีการพัฒนาสินค้าร่วมกันทั้งสำหรับลูกค้า B2B และลูกค้า B2C หรือแม้แต่แผนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทก็ใช้พลังของเครือซีพีสนับสนุน เนื่องจากกลุ่มซีพีมีฐานธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ ดังนั้น อนาคตบริษัทจะใช้พลังของบริษัทในเครือซีพีในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้กับธุรกิจและประเทศไทย 

MAKRO จ่อซื้อ \"ธุรกิจรีเทล\" ต่างประเทศ ดันเติบโต ! “โมเดลธุรกิจแบบไปคนเดียวเติบโตคนเดียวน่าจะหมดสมัยไปแล้ว และเมื่อธุรกิจมีโอกาสไปเติบโตในต่างประเทศ เราก็อยากจะดึงสินค้าไทย คนไทย ผู้ผลิตไทย ไปร่วมสร้างโอกาสกับเราด้วย” 

ทั้งนี้ ภาพรวมของผลดำเนินงานครึ่งปีแรกแม็คโครเติบโตระดับ 3% เนื่องจากปีนี้ผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงกว่าปีที่แล้ว แต่มองว่าหลังจากที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย และภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ดังนั้น ภายใต้ความคาดหวังโควิด-19 คลี่คลายและเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว คาดว่าผลประกอบการมีโอกาสเติบโต “สองหลัก” สะท้อนผ่านในปี 2561-2563 ที่บริษัทเติบโต 6.5% (ยังไม่มีโลตัสส์) 

สุดท้าย “สุชาดา” บอกไว้ว่า การรวมกันของแม็คโครและโลตัสส์เมื่อธุรกิจมารวมกันจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น อนาคตสามารถทำอะไรร่วมกันได้มากยิ่งขึ้นไปอีก