กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ 25-29 ตุลาคม: มองเป็นบวกมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ 25-29 ตุลาคม: มองเป็นบวกมากกว่าสัปดาห์ที่แล้ว

โมเมนตั้มของตลาดน่าจะแข็งแกร่งมากขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 ตุลาคม) ดัชนี SET พักฐานเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดเอาไว้ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังเดินหน้าเปิดประเทศอย่างเต็มที่มากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

ในขณะที่ภาวะตลาดหุ้นสหรัฐยังได้แรงหนุนจากผลประกอบการ 3Q64 ที่แข็งแกร่ง และกระแสข่าวว่าการขึ้นภาษีนิติบุคคลสหรัฐอาจจะต่ำกว่าที่คาดกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นได้จำกัดเนื่องจากมีแรงเทขายทำกำไรออกมาจากนักลงทุนสถาบันอย่างต่อเนื่อง จากการที่ดัชนี SET ดูอ่อนแรงเมื่อเข้าใกล้แนวต้านทางจิตวิทยาที่ 1,650 จุด นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ในเชิง earnings yield gap (EYG) พบว่าระดับราคาปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาคิดเป็น EYG สิ้นปี 2565 ที่ 3.8% (อิงจาก consensus EPS) และที่ 4.1% (อิงจากประมาณการ EPS ของเรา) ซึ่งทั้งสองตัวเลขบ่งชี้ตรงกันว่าหุ้นไทยราคาไม่ถูกแล้ว และส่งผลให้ตลาดยังคงผันผวนต่อไป

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ (25-29 ตุลาคม) เราคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะขยับขึ้นแบบ sideways up และมองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่ดัชนีจะทะลุระดับ 1,650 ขึ้นไปได้ ประการแรก ตลาดการเงินในปัจจุบันรับรู้อย่างเต็มที่แล้วว่าสหรัฐจะลดขนาด QE ลง โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นาย Powell ประธาน Fed ได้ประกาศในการประชุมที่ Bank of International Settlement (BIS) ว่าถึงเวลาแล้วที่ Fed จะเริ่มกระบวนการลดขนาด QE ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ Fed จะประกาศลดขนาด QE ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน  ประการที่สอง traders ส่วนใหญ่คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐงวด 3Q64 จะแข็งแกร่ง โดย 30% ของบริษัทใน S&P500 มีกำหนดจะส่งงบในสัปดาห์นี้ 

 

 

ประการที่สาม ในช่วงที่ผ่านมามีความคืบหน้ามากขึ้นเกี่ยวกับการเปิดประเทศไทย โดยในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลประกาศว่าจะเปิดให้ผู้ที่เดินทางมาจาก 46 ประเทศเข้าประเทศไทยได้แบบมีเงื่อนไขโดยไม่ต้องกักตัวแบบ ASQ ในขณะที่จะมีการยกเลิก curfew ยามวิกาลในจังหวัดท่องเที่ยว (รวมกรุงเทพฯ ด้วย) ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นในสัปดาห์นี้ เราจึงคาดว่าน่าจะยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้า SET อย่างต่อเนื่อง

 

จะมีการประกาศหลายตัวเลขในสหรัฐ และไทยในสัปดาห์นี้ รวมถึงต้องติดตามผลประกอบการด้วย

(0/+) สหรัฐจะประกาศ GDP, เงินเฟ้อ และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ในวันที่ 28 ตุลาคมา จะมีการประกาศตัวเลข GDP 3Q64 ล่วงหน้าของสหรัฐ โดย Consensus คาดว่า GDP จะชะลอตัวลงเหลือ +2.8% QoQ saar จาก +6.7% ใน 2Q64 ส่วนในวันที่ 29 ตุลาคม ตลาดคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อ core PCE เดือนกันยานจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในวัฏจักรรอบนี้ที่ 3.7% YoY จาก 3.6% YoY ในเดือนสิงหาคม สำหรับการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน มีบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีหลายบริษัทที่มีกำหนดจะส่งงบในสัปดาห์นี้ ได้แก่ Apple, Microsoft, Alphabet, Facebook และ Amazon

(0/+) ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของไทย และบริษัทนอกภาคการเงินจะเริ่มส่งงบ 3Q64 สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันนี้จะมีการประกาศตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่ผ่านพิธีศุลกากรของเดือนกันยายนออกมา ในขณะที่ ธปท. จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยาน และ 3Q64 ในวันที่ 29 ตุลาคม นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเตรียมตัวเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ด้วย

 

ยังลงทุนต่อ โดยเน้นหุ้นกลุ่ม reopening, หุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ และหุ้นพลังงานบางตัว

ถึงแม้ตลาดจะยังมีแนวโน้มผันผวน แต่เรายังคงมองว่าตลาดหุ้นไทยยังมี upside อีก ทั้งนี้ จากความชัดเจนเรื่องที่ Fed จะลดขนาด QE และความคืบหน้าในการเปิดประเทศ เราจึงยังคงยึดธีมการลงทุนในหุ้นกลุ่มหลัก อย่างเช่น กลุ่ม reopening และธนาคารขนาดใหญ่ (AOT*, CPN*, MAJOR*, KBANK*, BBL*) นอกจากนี้ เรายังมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่ม commerce (CPALL*, HMPRO*) และที่อยู่อาศัย (ORI*, SPALI*, AP*) ในขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันที่ยังคงแกว่งตัวสุงขึ้นจะส่งผลดีต่อหุ้นโรงกลั่น (SPRC*, ESSO*)