สบาย เทคโนโลยี ท้าชิงเบอร์ 1 ระเบิดศึกตลาดเวนดิ้งแมชชีนรอบใหม่
ศึกตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือ เวนดิ้ง แมชชีน ยังคงดุเดือดต่อเนื่อง เมื่อยักษ์ใหญ่ “บมจ. ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” ในเครือสหพัฒน์ ที่ทำตลาดมากว่า 20 ปี เดินเกมรบครั้งใหญ่ ดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ เสริมกิจการแกร่งกว่าเดิม
ก่อนหน้าตลาดยังคึกคักเพราะขาใหญ่ตบเท้าส่งตู้แบรนด์ตัวเองยึดทำเลเด่นเสิร์ฟสินค้าให้แก่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น “ทีจี เวนดิ้ง แมชชีน”(TG Vending)ของกลุ่มธุกิจทีซีพี(กระทิงแดง) และ สิงห์ มีตู้จำหน่ายน้ำดื่มสิงห์ เป็นต้น
ทว่า ผู้ชิงหน้าใหม่ คือ “สบาย เทคโนโลยี” ที่ลั่นจะขึ้นเป็น “ผู้นำตลาด” เวนดิ้ง แมชชีน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท จำนวนกว่า 30,000 เครื่อง จากปี 2562 มูลค่า 1,600 ล้านบาท จำนวนกว่า 16,000 เครื่อง
ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ฉายภาพการขยายธุรกิจตู้เวนดิ้งแมชชีนของบริษัท จะใช้มรรควิธี “ลัด” ด้วยการควบรวมและซื้อกิจการ(M&A) ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจากับผู้ประกอบการตู้เวนดิ้ง แมชชีนราว 3 ราย และจะปิดดีลให้ได้ในปีนี้
ทางลัดจะช่วยสปีดให้ธุรกิจโตเร็ว ขณะเดียวกันจะใช้กลยุทธ์ความร่วมมือกันพันธมิตร “ค้าปลีกรายใหญ่” ประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต(ปัจจุบันมี 2 บิ๊กเนม โลตัสส์ บิ๊กซี)ในการทำแบรนด์ร่วมกันหรือ Co-Branding เพื่อป้อนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเจาะผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งกลยุทธ์นี้เห็นช่วงโค้สุดท้ายปีแน่นอน
สบายฯ มีตู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “เวนดิ้ง พลัส” เสริมด้วย “6.11 Select” และ “6.11 Corner” ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 6,000 เครื่อง ให้บริการในจุดต่างๆตามห้างค้าปลีกชั้นนำของเมืองไทย เช่น เดอะมอลล์ เมกา บางนา เซ็นทรัล พลาซา โลตัสส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สบายฯ ทำตลาดตู้เวนดิ้ง แมชชีนเพียง 3-4 ปี สามารถก้าวเป็น “เบอร์ 2” ได้อย่างรวดเร็ว มีส่วนแบ่งทางการตลาด 20-25% แซงหน้า “ทีจี เวนดิ้ง” ของกระทิงแดงที่ยังมีตู้จำนวนกว่า 1,500 เครื่องในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
ขณะที่เป้าหมายการบุกตลาดเวนดิ้ง แมชชีน คือการมีส่วนแบ่ง 40% หรือมีจำนวนตู้แตะ 15,000 เครื่อง ซึ่งจะก้าวเป็น “ผู้นำ” แซงยี่ห้อ “ซัน เวนดิ้ง” ของเครือสหพัฒน์ ที่มีเป้าหมายภายในปี 2566 จะมีตู้แตะ 20,000 เครื่อง
“หากเราขยายตู้เวนดิ้ง แมชชีนได้ 15,000 เครื่อง ก็จะเป็นผู้นำตลาดได้แล้ว แต่เรามองศักยภาพธุรกิจไปได้ไกลกว่านั้น เพราะความยากคือการทำตู้เวนดิ้งฯ ระบบออนไลน์ ซึ่งคู่แข่งยังมีตู้ออนไลน์น้อยมาก สัดส่วน 2% เท่านั้น”
ทั้งนี้ ศักยภาพของตู้เวนดิ้งฯ ในอนาคต จะเติบโตต่อเนื่อง การทำหารายได้ไม่จำกัดแค่ “ขายเครื่องดื่มและสินค้า” เท่านั้น แต่มีความหลากหลายถึง 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.สร้างรายได้จากพื้นที่โฆษณา 2.เก็บเกี่ยวฐานลข้อมูลผู้บริโภค(ฺBig Data) 3.เชื่อมโยงกับเดลิเวอรี ซึ่งไรเดอร์จะสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด ซื้อสินค้าและส่งตรงให้ผู้บริโภคที่รักสะดวกสบายมากขึ้น และ 4.การซื้อแบบเหมาโดยผู้บริโภคสามารถทยอยใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าทีละเล็กน้อย
นอกจากขยายตู้เวนดิ้งฯ อีกธุรกิจที่เป็นดาวดวงใหม่ของสบาย คือ “การเงิน” ทั้งประกันภัย และการชำระเงินต่างๆ โดยจิ๊กซอว์ที่ช่วยเติมเต็มกลยุทธ์ คือการผนึกกับ “เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์” ตั้งบริษัทร่วมทุน “เทโร สบาย” โดยจะมีการนำจุดแข็งของเทโรฯ คือการมีฐานลูกค้าออนไลน์มหาศาล จากการนำเข้าคอนเสิร์ตต่างงประเทศมาจัด คอนเสิร์ตไทยรวมกว่า 20 งานต่อปี การจำหน่ายตั๋วต่างๆผ่านไทยทิกเก็ตเมเจอร์ ฯ ฐานลูกค้าคือขุมทรัพย์หรือดาต้า ชั้นเยี่ยมที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจทั้งการขายประกันให้กับคนชมคอนเสิร์ต เป็นต้น
นอกจากนี้ ฐานข้อมูลลูกค้าจะนำไปต่อยอดธุรกิจการปล่อยสินเชื่อในอนาคตด้วย ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีขนาดมหาศาล ประชาชนมีความต้องการเงินสูง และหากดูรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆต่อลูกค้าหนึ่งคนหรือAverage Revenue Per User ของบริษัทยังต่ำกว่ายักษ์ใหญ่ของโลกอย่างอาลีบาบาถึง 20 เท่า สะท้อนถึงโอกาสทางการตลาดที่มีอยู่มาก ซึ่งการขยายธุรกิจดังกล่าว บริษัทยังได้มือดีจากแวดวงการเงิน ธนาคาร “พูลพัฒน์ ศรีเปล่ง” มานั่งเป็นกรรมการบริหาร และกรรมการบริหารความเสี่ยง
“ฐานข้อมูลลูกค้าของเทโรฯ ใหญ่มาก เฉพาะออนไลน์ มีสัดส่วนถึง 50% การเป็นพันธมิตรกับเทโรฯ จึงเสริมแกร่งให้อีโคซิสเทมธุรกิจของสบายทั้งการหารายได้จากโฆษณา ซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆในโลกอย่างเฟซบุ๊ก ก็ทำเงินจากตรงนี้ รวมถึงการผลักดันไปสู่การขายสินค้า สุดท้าย ใช้ข้อมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า”
จากแผนธุรกิจดังกล่าว บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2565 เติบโต 40% และปีถัดไปจะเติบโต 25-30% ขณะที่ปี 2562 มีรายได้กว่า 1,500 ล้านบาท