“DOW” ชี้ ผู้บริโภคมุ่งหาสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น
“DOW” ย้ำ เทรนด์คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สินค้าต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด โจทย์ใหญ่ผู้ผลิต ผนึกทุกภาคส่วนสร้างการเติบโตยั่งยืน ตั้งเป้าปี2020 ลดการปล่อยคาร์บอน 5ล้านตัน เดินหน้าใช้นวัตกรรมชูโปรดักส์รีไซเคิล100% ในปี2035
นายฉัตรชัย เลื่อนเจริญผลชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวกล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “THAILAND NEXT episode3 Circular Economy นวัตกรรมเพื่ออนาคต” จัดโดย บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ว่า จากการเปลี่ยนแปลงเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต่างให้ความสนใจจะเห็นได้ชัดจากความเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะผู้บริโภคมีความตื่นตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ นักลงทุนต่างให้ความสนใจว่าธุรกิจนั้นๆ ตอบโจทย์ในเรื่องของภาวะโลกร้อนหรือไม่ และกลายเป็นเทรนด์ทั่วโลก โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ขณะนี้ มักถามว่าสินค้านี้มีการปล่อยคาร์บอนมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวถ้าไม่ปรับตัว สินค้านั้นๆ ก็จะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีต่อผู้บริโภค เพราะเทรนด์การใช้นวัตกรรมเป็นตัวผลักดันสินค้าเพื่อลดโลกร้อนเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคจะโฟกัสผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ผู้ประกอบการในเมืองไทยหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนอกจากจะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในเมืองไทยแล้ว การส่งสินค้าออกสู่ต่างประเทศจะยากยิ่งขึ้นไปด้วยเนื่องจากทางยุโรปจะตั้งเงื่อนไขในเรื่องของคาร์บอนด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี2538 กลุ่มดาวได้ประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนและดำเนินการอย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจของดาวจนปัจจุบันอยู่ในเป้าหมายระยะที่ 3 (พ.ศ.2559-2568) ที่เน้นร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อนำพาโลกและสังคมไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ สำหรับการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ รัฐบาลหลายฝ่ายให้ความสนใจลดคาร์บอน ยูเอ็นพยายามจำกัดการใช้พลังงาน ขณะที่รัฐบบาลไทยมีนโยบายมุ่งสู่กรีนคาร์บอน คนยุคใหม่ให้ความสนใจ หันมาซื้อสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องผลิตสินค้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดตอบโจทย์ความต้องการในตลาด
ทั้งนี้ กระแสของการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลชัดเจนต่อผลิตภัณฑ์หลายอย่าง โดยผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มดาวได้คิดค้นและเห็นได้ชัด คือ แบตเตอรี่ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ รถEV ที่จะต้องคิดค้นให้มีน้ำหนักเบา ทนทาน โดยดาวได้ใช้นวัตกรรมซิลิโคนนำความร้อนประสิทธิภาพสูงชนิด Low Density Thermal Conductive Gap Filler เพื่อประกอบชุดแบตเตอรี่ EV ช่วยระบายความร้อนของชุดแบตเตอรี่มีน้ำหนักเบาทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลันได้ตั้งแต่ -40°C ถึง 125°C ทนความร้อนและความชื้นสูง ไม่ลามไฟ มีความยืดหยุ่นและลดแรงกดในการประกอบชิ้นงาน ลดต้นทุนการแก้ไขชิ้นงาน ออกแบบให้สามารถถอดออกโดยไม่ทิ้งคราบ และช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง สนับสนุนผู้ประกอบการแบตเตอรี่ยานยนต์ในประเทศไทยให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับการลงทุนในการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญมาก ในเรื่องของมาตรฐานสินค้าสำคัญ ช่วยทำให้ขายของได้ โดยหลักในการทำให้ประสบความสำเร็จประกอบด้วยปัจจัยหลักๆ คือ 1. เทคโนโลยี 2. โครงสร้างพื้นฐาน 3. พฤติกรรมผู้บริโภค และ 4.กฎหมาย เป็นต้น โดยเชื่อว่าคนไทยสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับกระแสได้เร็วมาก และมีความสนใจในเรื่องของ Circular Economy มากขึ้น แต่อาจจะติดประเด็นหลักๆ คือด้านโครงสร้างพื้นฐาน กับด้านกฎหมายที่มีการได้ใช้มานานแล้ว จึงควรมีการปรับแก้ไข เพื่อให้เข้ากับเทรนนวัตกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน
“ภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความแข็งแรงมากพอ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SME มีความร่วมมือกันในส่วนนี้ ผู้ประกอบการหรือบริษัทขนาดใหญ่ ก็ได้ให้ความร่วมมือกันมากขึ้น ใครมีเทคโนโลยีทันสมัยตัวไหนช่วยแก้ปัญหาตรงจุดช่วยลดต้นทุน เพราะมั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนไม่สามารถเติบโตไปเพียงองค์กรเดียวได้ ต้องโตทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตที่เป็นส่วนประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งดาวเองได้เน้นร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความยั่งยืน และตั้งเป้าปี2020 ลดคาร์บอน 5ล้านตัน ส่วนปี2035 ใช้นวัตกรรมนำโปรดักส์กลับมารีไซเคิลได้100%”
อย่างไรก็ตาม มาตรฐานด้านสิ่งแล้วล้อมนั้น แต่ละประเทศหรือแต่ละที่ สิ่งแวดล้อมจะไม่เหมือนกัน การใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งโลกอาจจะยังไม่มี เช่น ในการเก็บขยะของรถขยะในประเทศไทยการเก็บแต่ละครั้งจะเก็บไปรวมกัน ซึ่งไม่เหมือนกับต่างประเทศที่มีการแยกเก็บเป็นสัดส่วน มาตรฐานควรมีการตรวจวัดได้ มีการตรวจสอบ ติดตามว่าขยะเหล่านั้นถูกส่งไปไหน ส่วนเกณฑ์ของมาตรฐานควรดูบริบทที่ทำได้ด้วย บางครั้งการตั้งมาตรฐานสูงเกินไปแล้วไปไม่ได้ก็จะลำบาก ดังนั้น การทำมาตรฐาน Circular Economy ว่าพลาสติกขยะนี้มาจากไหน ยังไง จะสามารถตอบโจทย์มาตฐานได้