“ราคาน้ำมัน” ปัจจัยท้าทาย แผนเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด
เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงในช่วงปี 2065–2070 กำลังถูกท้าทายจากปัจจัยราคาพลังงานที่สูงขึ้น
ความท้าทายดังกล่าวสามารถประเมินได้ 2 ด้านคือ ราคาน้ำมัน ที่สูงกำลังเป็นแรงผลักให้เกิดการหาพลังงานทดแทนเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดซ้ำในอนาคต อีกด้านของผลกระทบจากราคาพลังงาน คือ ผลที่จะทำให้พลังงานทดแทนซึ่งมี วัตถุดิบจากพืชพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้แต่ไฟฟ้าสูงขึ้นจากฐานที่สูงอยู่แล้ว กลายเป็นอุปสรรคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและของประเทศไทย
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์เป็นกระแสสังคมโลกที่ไทยจะต้องดำเนินการ จึงต้องมีมาตรการต่างๆเร่งรัดส่งเสริม ทั้งมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี
“มองว่านอกจากเป็นการลดความเสี่ยง ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพลิกโฉม หรือต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมคาร์บอนต่ำ”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพ มีความหลากหลายเรื่องของเชื้อเพลิง และพลังงานสะอาด ทั้งชีวมวล ชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และการนำเข้าพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้าน
นที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวนจะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหน ไม่ทราบว่าจะเป็นภาวการณ์ระยะสั้นหรือระยะยาว
ในส่วนของการใช้พลังงานทางเลือก มองว่าราคาจะไม่ใช่ตัวที่มากำหนดเป็นหลัก การจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดหรือไม่นั้น ต่อจากนี้ไปจะไม่ใช่เรื่องของราคาอย่างเดียว ความกดดันจากกระแสโลก อาทิ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกดดันให้ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน
ทั้งนี้ เครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะมาช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน คือเรื่องของพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือ RE โดยเทรนด์ของราคา RE มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ ที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน ส่วนราคาพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ เซลล์ เริ่มปรับราคาลงมาด้วยตามความต้องการใช้งาน และเมื่อมีการผลิตมากขึ้น กลไกตลาดก็ทำงาน ส่งผลให้ราคาถูกลง สุดท้ายอีกไม่นานราคาพลังงานหมุนเวียนจะเท่ากับต้นทุนค่าไฟที่อยู่ในสายส่ง
“เราอย่าลืมว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เราคิดแค่ต้นทุนจากราคาเชื้อเพลิง แต่ไม่เคยเอาต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาคิดคำนวณ ถือเป็นต้นทุนภายนอกที่เกิดขึ้น ตรงนี้ถ้าเกิดเอาคิดคำนวณรวมแล้วราคาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอาจจะไม่ใช่ราคาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่อาจสูงขึ้นกว่านี้อีก”
นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ราคาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะนี้ อาจดูเหมือนราคาสูง แต่ถ้ารวมประโยชน์ที่ได้จากการลดก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอน การรักษาสิ่งแวดล้อมจะคุ้มค่ากว่า ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคและประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียน และหากมองว่าจะเป็นภาระของประชาชนหรือไม่นั้น ให้ลองดูราคาของเก่า ถ้าคิดแล้วในอดีตที่มีต้นทุนสูง ราคาค่าไฟยังสูงอยู่แต่ก็จะลดลงเรื่อยๆ อนาคตจะลดลงอีก
"เมื่อมองไปข้างหน้า พลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาแล้ว นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก ราคาต้นทุนไม่ได้แพงไปกว่าฟอสซิล และบางตัวอาจถูกกว่าด้วยซ้ำ เช่น โซลาร์ เซลล์ ที่มีราคาถูกกว่า"
นอกจากนี้ ยังมีพลังงานที่เกิดจากก๊าซชีวมวล ชีวภาค ที่อาจจะราคาใกล้เคียงกับฟอสซิล แต่หากมองในมิติบวก ถึงแม้จะมีต้นทุนราคาแพงกว่ากลุ่มฟอสซิล แต่ต้องไม่ลืมว่านอกจากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จากวันนี้ไปถึงอนาคต ตาม นโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน โดยต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน หรือ RE ไม่น้อยกว่า 50%
ถือว่ารัฐบาลได้ส่งสัญญาณแล้วว่า RE เป็นความหวังของประเทศและไม่ใช่ภาระของประเทศอีกต่อไป และจะเข้ามาเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อนต่างๆ