"ซีพี" ปลุกธุรกิจไทยรับมือภาวะวิกฤติ "โลกร้อน"

"ซีพี" ปลุกธุรกิจไทยรับมือภาวะวิกฤติ "โลกร้อน"

เครือซีพี ร่วมเวที “Sustainability Forum 2021” ปลุกธุรกิจไทยรับมือ “วิกฤติโลกร้อน”ปัญหาการเปลี่ยนแปลงระดับโลก มุ่งสร้างการตระหนักรู้ เร่งให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน ยึดหลักการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนตามแนวทาง ESG

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดเวทีสัมมนาออนไลน์ “Sustainability Forum 2021” ในหัวข้อ “Navigating the Uncertainty with ESG” โดยมีผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทย และระดับนานาชาติ มาร่วมแชร์ประสบการณ์แลกเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG: Environmental, Social, Governance)

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง Celebrating the Legacy of King Rama IX: The True ESG Advocate โดยกล่าวถึง พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลาการครองราชย์  70 ปี ผ่านโครงการต่างๆ กว่า 4,700 โครงการ  ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ESG และถือเป็นบทเรียนสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

รวมไปถึงการพัฒนาคนผ่านการศึกษาและการสร้างวิถีความเป็นอยู่ที่ดี โดยพระองค์ท่านได้เสนอแนวคิด 3 ข้อเพื่อนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ

1.ให้รู้จักประมาณตน โดยใช้ทุนทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่สร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด 

2. ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทางในการใช้ทรัพยากรให้เกิดความพอดีและความสมดุล 

3.ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ ทุกคนจะต้องไม่ประมาทในการใช้ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 และจะต้องร่วมกันรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเท่าทัน

โดยได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่พระองค์ท่านสอนถือเป็นบทเรียนของมนุษยชาติ หากเรานำมาสู่การลงมือปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ทั่วถึงและทันการณ์ ไม่ว่าจะเรื่องภัยธรรมชาติ ภัยเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางสังคม จะทำให้ประเทศเกิดความเจริญ และสามารถส่งต่อความยั่งยืนให้ลูกหลานเราในอนาคตได้

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวในหัวข้อ The SDGs Objective for Competitiveness ว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจจะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ โดยเฉพาะการตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือเป็นวาระของโลกที่ทุกองค์กรต้องเร่งปรับตัวแก้ปัญหา เพราะขณะนี้กติกาการค้าทั่วโลกเตรียมใช้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการว่ามีการละเมิดหรือสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือไม่

โดยยกกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งธุรกิจของไทยที่จะต้องส่งออกสินค้าในกลุ่มอียู ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรับกติกาสากลนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันและเกิดการยอมรับธุรกิจในตลาดโลก

นายนพปฎล กล่าวว่า ความท้าทายของธุรกิจในประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนทางธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปพร้อมกับการสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วนทั้งในองค์กรระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพื่อร่วมกันรับผิดชอบและช่วยกันแก้ปัญหาของโลกครอบคลุมมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย 

ทั้งนี้ ยกกรณีศึกษาของเครือซีพีในการสร้างสูตรสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ 5 ข้อ ตามแนวทางของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี คือ

1.การสร้างภาวะผู้นำ ด้วยการแสดงคำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลก โดยผู้นำจะต้องตระหนักรู้ มีการตั้งเป้าหมายให้องค์กรที่ชัดเจนและวัดผลได้

2.ต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติในด้านความยั่งยืนที่โปร่งใส ทั้งในด้านผลงานที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ

3.สร้างกลไกการตลาด ให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ว่าองค์กรมีการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมและโลก

4.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.0 มาปรับใช้ ในการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญคือต้องร่วมกันคิดให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

5.สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันหาแนวทางพัฒนาตามหลักเป้าหมายความยั่งยืน

“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในการทำธุรกิจในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ จะต้องไม่ทำเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมกันต่อสู้ รับมือวิกฤตโลกร้อน เพื่อสร้างโลกที่ดีให้กับลูกหลานของเราในอนาคต” นายนพปฎลกล่าว