"เทสลา"พาวเวอร์ ดัน"หุ้นอีวี"ไทยพุ่งแรง
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนว่ากระแสยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี จะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังมีข่าวใหญ่ระดับโลกว่า “เทสลา” บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของมหาเศรษฐี “อีลอน มัสก์” ได้รับออเดอร์รถยนต์ไฟฟ้าล็อตมหึมาถึง 1 แสนคัน จาก “เฮิร์ซ” ผู้ให้บริการรถยนต์เช่ารายใหญ่
ถือเป็นคำสั่งซื้อที่มากที่สุดในโลก ณ เวลานี้ โดยดีลนี้จะทำรายได้ให้เทสลามากถึง 4.2 พันล้านดอลลาร์ หรือ มากกว่า 1.3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งตามข้อตกลงบริษัทจะทยอยส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าให้กับเฮิร์ซภายในสิ้นปี 2565 เบื้องต้นเฮิร์ซมีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา 50,000 คัน ไปให้บริการเป็นรถแท็กซี่ โดยร่วมมือกับ “อูเบอร์” เปิดให้สมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายของอูเบอร์มาเช่ารถไปขับ
ทันทีที่ข่าวดีนี้ออกมา ช่วยจุดพุลราคาหุ้นเทสลา อิงค์ พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง เดินหน้าทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ จนมาร์เก็ตแคปทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เรียกว่าสมศักดิ์ศรีบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
อานิสงส์ข่าวดีของเทสลาส่งต่อมาถึงบ้านเราด้วย หุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวขึ้นมากันอย่างคึกคัก ซึ่งนอกจากจะมีปัจจัยบวกจากต่างประเทศเข้ามาหนุน ในประเทศก็มีข่าวดีออกมาด้วยเช่นกัน
โดยกระทรวงการคลังเตรียมคลอดมาตรการเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลที่อยากให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 30% ของจำนวนรถยนต์ที่ผลิตในประเทศทั้งหมดภายในปี 2568
กระแสข่าวระบุว่ามาตรการที่จะออกมาในปี 2565 จะมีทั้งมาตรการทางภาษีและไม่ใช่มาตรการภาษี เช่น มีข้อเสนอปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ผลิตจากประเทศทางยุโรปและญี่ปุ่นจาก 80% เหลือเพียง 20% เพื่อจะได้แข่งขันได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนและประเทศอาเซียนไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการทางค้าระหว่างอาเซียนกับจีน
ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี มีทั้งการปรับลดราคาค่าทางด่วน รวมทั้งการสนับสนุนที่จอดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่กระแสข่าวเท่านั้น ต้องรอข้อสรุปอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
สำหรับผู้ประกอบการไทยตอนนี้มีอยู่หลายบริษัทที่ประกาศความพร้อมรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งกลุ่มพลังงานยักษ์ใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่จับมือกับ “ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป” ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ประกาศขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจอีวีเต็มรูปแบบ โดยมีแผนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มปตท. และรับจ้างผลิตให้กับบริษัทอื่น
ด้านบริษัทในเครือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เดินหน้าขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊มน้ำมันเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 100 แห่ง
ส่วนบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จะเป็นเรือธงในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน มีโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ในอีก 2 ปีข้างหน้า และ 10 GWh ในอีก 10 ปี ภายใต้งบลงทุน 3 หมื่นล้านบาท
ด้านบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศที่สนใจทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด 1 GWh การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าที่ปัจจุบันเริ่มทดลองเปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนบริษัทลูก บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ตั้งเป้าที่จะส่งมอบรสบัสไฟฟ้าให้กับลูกค้าภายในปีนี้ 400-500 คัน ขณะที่ปัจจุบันมีหลายบริษัททั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการขนส่งสนใจติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมาก
อีกกลุ่มทุนใหญ่บริษัท บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ส่งบริษัทในเครือบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เข้าไปลงทุนใน Durapower ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบ Lithium-ion เพื่อใช้ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน
ด้านบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ได้ร่วมทุน EVLOMO อีกหนึ่งบริษัทชั้นนำด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐ ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กับเก็บพลังงานไฟฟ้า ขนาดการผลิต 8 GWh ซึ่งจะรองรับรถอีวีได้ 1.5 แสนคัน