JP มั่นใจผลงานปี 64 ลุยขยายธุรกิจ CLMV ปั้นรายได้ต่างประเทศแตะ 20%
JP กางแผนหลังเข้าระดมทุนตลาดหุ้น มั่นใจรายได้ปี 64 เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน จากยอดขายสินค้าผลิตเองเพิ่มขึ้น-คนหันมาใส่ใจสุขภาพจากโควิด พร้อมตั้งเป้าหมายขยายตลาด CLMV ปั้นสัดส่วนรายได้ต่างประเทศโตแตะ 20% จากพอร์ตสินค้าผลิตเอง
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP เปิดเผยว่า ภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) บริษัทจะนำเงินที่ได้ราว 805 ล้านบาท ไปใช้ในการขยายธุรกิจ ได้แก่ การปรับปรุงและขยายโรงงานกรุงเทพฯ และลำพูน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งภายในบริษัท รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งงบลงทุนด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) แก่ลูกค้า ภายหลังบริษัทเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทเอง (Own Brand) จากเดิมรับจ้างผลิตและจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า (OEM) เป็นหลัก รวมถึงการขยายตลาดต่างประเทศ โดยเน้นกลุ่มประเทศรอบบ้าน (CLMV)
สุดท้าย บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ซึ่งภายหลังการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของบริษัทลดลงเหลือ 0.35 เท่า จากเดิมที่ 1.70 เท่า
สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 2564 บริษัทคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 462.74 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราการเติบโตมากกว่า 10% จากปัจัจยหนุนรายได้ Own Brand ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการยาสมุนไพรที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากกระแสที่ประชาชนหันมาใส่ใจด้านสุขภาพ การใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ในส่วนของเป้าหมายการขยายธุรกิจต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีการจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งในและนอกกลุ่มประเทศ CLMV อยู่แล้ว เช่น เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ โดยมีสัดส่วนรายได้รวมในพอร์ตประมาณ 5% อย่างไรก็ดี ในปี 2565 บริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ โดยคาดว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20% ในหมวดสินค้า Own Brand
รวมถึงตั้งเป้าหมายในอีก 3-5 ปีข้างหน้าสินค้า Own Brand เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50% จากปัจจุบันที่ 38% โดยเชื่อว่าในอนาคตสัดส่วนรายได้ Own Brand จะปรับขึ้นมามากกว่าสินค้า OEM ตามลำดับ