เกรย์เอ็นเจฯ ผนึกเอ็น สแควร์ฯ ติดอาวุธช่วยลูกค้าลุยอีคอมเมิร์ซ
วิกฤติโรคโควิด-19 ระบาดร่วม 2 ปี สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมหาศาล พฤติกรรมผู้บริโภคพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และเกิดปฏิกิริยา “เร่ง” การชอปปิงออนไลน์ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภคไปเรียบร้อยแล้ว
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว รวมถึง “ครีเอทีฟ เอเยนซี่” จะมีแค่ไอเดียปังมาสร้างสรรค์งานโฆษณา ช่วยสื่อสารการตลาดให้ลูกค้าไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยุคนี้ต้องเป็น “คู่คิด” ให้กับลูกค้าเพื่อทรานส์ฟอร์ม เปลี่ยนผ่านการค้าขายไปสู่ดิจิทัล หรืออีคอมเมิร์ซ และ “ปิดการขาย” สร้างรายได้ให้กับลูกค้าอีกแรงหนึ่ง
“ถ้าโลกเปลี่ยน หลายอย่างถูกดิสรัปไปแล้ว หากเรายังทำแบบเดิมคงไม่ได้ เมื่อแบรนด์ต้องการให้ผู้บริโภคมีความจงรักภักดีหรือลอยัลตี้ต่อสินค้า เราก็ต้องการให้ลูกค้าของเรามีลอยัลตี้กับเราเหมือนกัน” คณพร ฮัทชิสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เกรย์เอ็นเจยูไนเต็ด เล่าถึงโจทย์การทำงานที่ท้าทายในยุคปัจจุบัน
เมื่อความต้องการของลูกค้าไม่หยุดอยู่แค่งานครีเอทีฟ แต่ต้องการขยายตลาดสู่อีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็น “ขุมททรัพย์” ก้อนโตที่อยู่เบื้องหน้า ในฐานะพาร์ทนเนอร์ จึงพร้อมตอบสนอง ทำให้เกรย์เอ็นเจฯ เปิดหน่วยธุรกิจที่ปรึกษาแบรนด์รูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ “4Colors” ซึ่งได้ผนึกกำลังกับ “ เอ็น สแควร์ อีคอมเมิร์ซ” ผู้นำในการจัดจำหน่ายและบริหารช่องทางการขายอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดอาวุธให้ลูกค้าลุยน่านน้ำใหม่สู่โลกอีคอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ 4Colors ได้ระดมความเชี่ยวชาญ 4 ด้านช่วยลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ ความคิดสร้างสรรค์ คอมเมิร์ซ และดาต้า ช่วยสร้างแบรนด์บนอีคอมเมิร์ซหรือ Branding Commerce ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่ง จากการศึกษาพบว่าข้อมูลก่อนการค้นหาสินค้าบนอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มหรือมาร์เก็ตเพลสมีความสำคัญ ที่ช่วยให้เกิดความคุ้นเคยและนำมาซึ่งโอกาสในการตัดสินใจซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น หากไม่เกิดแบรนดิ้งบนอีคอมเมิร์ซ ผู้บริโภคมีโอกาสเปลี่ยนแบรนด์สินค้าขณะตัดสินใจซื้อที่สูงขึ้น ขณะที่การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งบนอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อได้ถึง 14 เท่า อีกทั้งนักช้อปออนไลน์ค้นหาสินค้าด้วยชื่อแบรนด์ (Branded Search) บนอีคอมเมิร์ซแพลทฟอร์มเพิ่มมากขึ้นด้วย
“4Colors ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ขยายตลาดสู่อีคอมเมิร์ซ ที่วันนี้มีแบรนด์ทำตลาดกันดาษดื่น แต่เราสามารถทำให้แบรนด์ดิ้งคอมเมิร์ซมีมิติมากขึ้น และมีการพัฒนาโซลูชั่นที่ดีกว่าให้ลูกค้าได้ ภายใต้แนวคิด 1+1 = 3”
นัฐพล บุญภินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิทัศน์ตลาดอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และการระบาดของโรคโควิดเร่งให้เกิดพฤติกรรมการชอปปิงออนไลน์มากขึ้น โซเชียลมีเดียกลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สำคัญ ช่วยเพิ่มโอกาสให้การค้าออนไลน์เกิดขึ้นทุกเมื่อ ดังนั้น การสื่อสารแบรนด์จึงต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับตัวแปรที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
ทั้งนี้ รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร ระบุว่าปี 2563 อีคอมเมิร์ซมีการเติบโตสูงถึง 80% สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ “ค้าปลีก” รูปแบบเดิมหดตัวลง 11% ขณะเดียวกันแนวโน้มของชอปปิงออนไลน์ยังชิงสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะ 9% แต่ภายในปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 16% โดยการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ภายใน 5 ปี และมูลค่าจะแตะ 7.45 แสนล้านบาท หากเทียบกับประเทศที่พัฒนา เช่น จีน อีคอมเมิร์ซมีสัดส่วน 20-30% ของการค้าขายปลีก
สำหรับสินค้ายอดฮิตที่ผู้บริโภคชอปปิงผ่านออนไลน์ ได้แก่ หมวดแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และสื่อบันเทิง โดยครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 26% ขณะที่การเติบโต สินค้าแฟชั่นร้อนแรงมากโตถึง 67% เครื่องใช้ส่วนตัวที่ 27% และสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมบ้าน 20%
อย่างไรก็ตาม แม้อีคอมเมิร์ซจะมีอัตราการเติบโตสูง แต่เจ้าของแบรนด์สินค้าหลายราย ไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาด เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และความคิดสร้างสรรค์บนช่องทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีความแตกต่างจากการสร้างแบรนด์ในแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ แบรนด์ของสินค้าแต่ละประเภทอยู่ในขั้นของการสร้างแบรนด์ที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างกันไป อย่างในกรณีของสตาร์ตอัพที่ช่วงแรกจะมียอดขายที่สูงมาก แต่จะเผชิญกับทางตันของยอดขายอย่างรวดเร็วในเวลาถัดมา นั่นทำให้ต้องมีการสร้าง “ความต้องการในอนาคต” ผ่านการสร้างแบรนด์ เมื่อถึงจุดหนึ่งแบรนด์ยังต้องขยายตัวเองให้เติบโต เป็นต้น