“เครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์” จ่อแตกไลน์ธุรกิจ ปล่อยกู้การศึกษา-ตั้งเอเอ็มซี
เครดิตฟองซิเอร์ เทิร์นอะราวด์ ธุรกิจ รุกโตเงินฝาก-สินเชื่อ คาดสิ้นปีหน้าพอร์ตโต 2-3 เท่า ดันพอร์ตคงค้างแตะ 3 พันล้าน จ่อลุยธุรกิจใหม่ ปล่อยกู้เพื่อการศึกษา-ตั้งบริษัทเอเอ็มซี จัดการหนี้ใน 2-3 ปีข้างหน้า
นายจิรศักดิ์ จิยะจันทน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้กลับมาดำเนินธุรกิจเชิงรุกแล้ว หลังจากมีการระมัดระวังในการทำธุรกิจในช่วง 2-5 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการกลับมาเติบโตในส่วนของเงินฝาก และการเติบโตของสินเชื่อ เพราะบริษัทมองว่าผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 น่าจะใกล้ถึงจุดสุดท้ายแล้ว ดังนั้นถือเป็นจุดที่กลับมาเทิร์นอะราวด์ในธุรกิจได้
ซึ่งพร้อมกลับมาเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนมากขึ้น หลังมีการเปิดประเทศ
โดยเฉพาะด้านเงินฝาก ที่ผ่านมา บริษัทได้ออกโปรดักส์เงินฝากพิเศษ โดยเป็น เงินฝากประจำ ที่ให้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในตลาดที่ระดับ 3.50% ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
โดยพบว่าได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างมาก ส่งผลให้ยอดเงินฝากเติบโตก้าวกระโดดหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นคาดว่า สิ้นปีจะสามารถระดมเงินฝากจากโปรดักส์ดังกล่าวได้ราว 1,200 ล้านบาท
“เมื่อปีก่อน เราไม่รู้จุดต่ำสุดคือ ตรงไหน วันนี้เราเชื่อว่าถึงจุดเปลี่ยนแล้ว การลงทุนทุกคนก็เตรียมพร้อมแล้ว ดังนั้นถึงเวลากลับมาซูเปอร์พีค ทำให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทกลับมาเพิ่มทุน บอร์ดหุ้นส่วนไฟเขียว และมีวิชั่นชัดเจนว่าเราจะกลับมารุก และเติบโตด้านสินเชื่อ และเงินฝากแล้ว วันนี้เราพร้อมแล้ว จากที่ผ่านมาที่เรารั้งตัวเองไว้ วันนี้วิชั่นเราชัดเจนที่จะโตไปข้างหน้า”
ทั้งนี้ คาดว่าจากการกลับมารุกเงินฝากและสินเชื่อ คาดจะเห็นยอดคงค้าง สินเชื่อและเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว หรือกว่า 3 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่แต่ละพอร์ตมียอดคงค้างอยู่ที่กว่าพันล้านบาท
ขณะที่คาดว่ายอดเงินฝากจะเติบโตขึ้นระดับ 200-500% ในช่วง 2-5 ปีข้างหน้า ส่วนพอร์ตสินเชื่อ บริษัทมีแผนที่จะเข้าไปปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการระดมเงินฝากที่เข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการหันไปปล่อยสินเชื่อในกลุ่มใหม่ๆ เช่น อสังหาฯโรงแรม ที่มีโอกาสเติบโตและฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19ได้
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่ขยายธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งการขยายการปล่อยสินเชื่อไปสู่กลุ่มใหม่ๆ และการแตกไลน์ธุรกิจ ไปสู่ธุรกิจใหม่มากขึ้น โดยการขยายพอร์ตสินเชื่อ จะเห็นการเข้าไปปล่อยสินเชื่อไปสู่ “สินเชื่อเพื่อการศึกษา” ที่คู่ไปกับแผนพัฒนาประเทศโดยเฉพาะปล่อยให้กลุ่มนักศึกษาที่เรียนที่เป็นอนาคตของชาติ เช่นที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี แพทย์ พยาบาลต่างๆ
นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษา เพื่อจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์(เอเอ็มซี) ที่มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต โดยเฉพาะทรัพย์ที่มีทิศทางที่ดี หรือเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากโควิด-19
ส่วนการจัดตั้งอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อีกทั้งการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว บริษัทมีแผนที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ และมีเงินทุน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นโปรเจกต์ใหม่ๆ ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์