“พลังงาน” ย้ำราคาน้ำมันอิงตลาดโลก "ปตท." หวั่นน้ำมันดิบแตะ 100 ดอลลาร์

“พลังงาน” ย้ำราคาน้ำมันอิงตลาดโลก "ปตท." หวั่นน้ำมันดิบแตะ 100 ดอลลาร์

“พลังงาน” ยันตรึงดีเซล 30 บาท เล็งลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานเหลือ 5 สต. "ปตท." มองน้ำมันดิบแพงต่อเนื่องอาจแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล “นักวิชาการ” แนะ ยกเลิกเพดานตรึงราคาน้ำมัน-ลดภาษีน้ำมันลง 1-2 บาทต่อลิตร-แจกบัตรส่วนลดราคาน้ำมันภาคขนส่ง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ?” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตน้ำมัน โดยมีการจัดหาน้ำมันดิบประมาณ 965,000 บาร์เรลต่อวัน จากตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ รัฐเซีย เป็นต้น ถึง 89% และผลิตเองได้เพียง 11% หรือประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ดังนั้น เมื่อมีการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันในประเทศจึงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันใตตลาดโลก รวมถึงตลาดภูมิภาคเอเซีย ตลาดการค้าน้ำมันถือเป็นตลาดเสรี เนื่องจากภาครัฐไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมี.ค. 2563 ช่วงโควิด-19 ระบาดแรกๆ เป็นช่วงที่ทั่วโลกตกใจกับโควิด-19 ราคาน้ำมันโลกจึงตกไปต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล พอมากลางปี 2564 เมื่อเริ่มมีวัคซีนทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย มีการเดินทางมากขึ้น ความต้องการด้านพลังงานจึงมีสูงขึ้น ประกอบกับกระแสโลกร้อนเป็นเทรนด์ขึ้นมา จึงทำให้กลุ่มโอเปกประกาศไม่เพิ่มกำลังการผลิต ลดจำนวนการผลิตน้อยกว่าความต้องการ ราคาน้ำมันตลาดโลกจึงดีดตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศนั้น กระทรวงพลังงานจะมีหน้าที่ติดตามดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีกให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงความเหมาะสมในการขายปลีกน้ำมัน โดยราคาโครงสร้างน้ำมันที่อ้างอิงจะมี 2 ส่วน คือ 1.ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และ 2.ราคาขายปลีก

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเหลือเพียง 7,144 ล้านบาท จากที่เคยมีอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท ในปี 2563 หากรวมกับกบน.อนุมัติให้กู้เงินเพื่อเติมอีก 20,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ หากรวมเงินกองทุนฯ จะสามารถตรึงราคาได้ถึงเดือนเม.ย. 2565 บนสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 5 พ.ย.2564 เพื่อลดการจัดเก็บเงินน้ำมันเข้ากองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานจาก 10 สตางค์ เหลือ 5 สตางค์

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยหลากหลายด้าน ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด กำลังการผลิตน้ำมันดิบ การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว หรือการเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยว อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้

สำหรับปีหน้านักวิเคราะห์มองว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจจะพุ่งมาอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการตึงตัวทางด้านการผลิตที่มีน้อยกว่าความต้องการใช้  ดังนั้น จึงชัดเจนว่า ราคาน้ำมันในปีหน้าจะยืนอยู่ในระดับสูงอย่างแน่นอน โดยสิ่งที่ต้องจับมากที่สุด คือ การประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปกพลัส) 23 ประเทศ จะมีทิศทางในเรื่องกำลังการผลิตอย่างไร โดยปัจจุบันกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก นั้นผลิตรวมกันที่ 27.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตของโลก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการระบุว่าทางกลุ่มมีแนวโน้มคงมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือนธ.ค. เพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเดิม แต่ทางสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ประเมินว่า ความต้องการที่แท้จริงนั้น จะต้องมีการผลิตเพิ่มอีกกว่า 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ฉะนั้นต้องจับตาดูว่า ผลการประชุมจะออกมาอย่างไร

นายคุรุจิต​ นาครทรรพ​ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย​ กล่าวว่า​ ราคาน้ำมันขายปลีกในไทย​ ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก​ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล​ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ​ เข้าไปช่วยพยุงราคามาอย่างต่อเนื่อง​ สะท้อนชัดเจนจากข้อมูลตัวเลขราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่​ 4​ ม.ต.-26​ ต.ค.2564 ราคาน้ำมันเบนซิน​ ในตลาดสิงคโปร์​ ปรับขึ้นเฉลี่ย​ 87-90% ส่วนราคาน้ำมันดีเซล​ ปรับขึ้นประมาณ​ 70% ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีก​ แก๊สโซฮอล์ในไทย​ ปรับขึ้นประมาณ​ 40%  และราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นประมาณ​ 20-38% ซึ่งเป็นผลจากการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมัน​ปรับลดค่าการตลาด​ และการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ​ เข้าไปอุดหนุน​จนเงินแทบจะหมดอยู่แล้ว​

นอกจากนี้  โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย​ ยังส่งผลสำคัญ​ต่อราคา​ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีต่างๆ​ และการปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล​ ที่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง​ ซึ่งหากยกเว้นการจับเก็บภาษี​และไม่มีการผสมไบโอดีเซลเลย จะช่วยลดราคาน้ำมันลงได้​ประมาณ​ 10​ บาทต่อลิตร​ แต่มันคงไม่สามารถทำได้ ดังนั้น​ หากจะช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป​ มี ควรยกเลิกเพดานราคาน้ำมันดีเซล​ ที่ใช้มานานถึง​ 15​ ปี​ และควรอยู่ที่​ 34​ บาทต่อลิตร​ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ​ และสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก​ และปรับลดภาษีสรรพสามิตลง​ 2​ บาทต่อลิตร​ จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่​ 5.99 บาทต่อลิตร​ รวมทั้ง​ ปรับลดการผสมไบโอดีเซลลงเหลือ​ 5% จากที่กำหนดไว้​ 7-10% เพื่อช่วยลดภาระของการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ

"เข้าใจว่าสถานการณ์โควิด-19​ ทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีได้ไม่เข้าเป้า​ โดยเฉพาะภาษี​vat แต่ถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายพยุงราคาน้ำมันต่อไป​ แล้วกองทุนน้ำมันฯ​ เงินหมด​ ก็ควรจะช่วยกัน​ ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน" นายคุรุจิต​ กล่าว

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ราคาน้ำมันสูงขึ้นกระทบกับผู้บริโภคค่อนข้างมาก รวมถึงมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยระยะหนึ่ง เพราะในช่วงหลังราคาสินค้าและบริการเริ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากราคาขายปลีกน้ำมันที่สูงขึ้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยระดับนึงแต่ไม่มาก ซึ่งตอนนี้ไปโฟกัสกันที่เรื่องของการเปิดประเทศ แต่หากนานเกินไปก็จะกระทบมากขึ้น เพราะต้นทุนการขนส่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน โดยรถบรรทุกค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งเป็นค่าน้ำมัน ราคาที่สูงขึ้นคิดเป็น 20-30% แสดงว่าต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น 10-15% อีกทั้ง ราคาน้ำมันและส่วนประกอบของราคาขายปลีก สะท้อนถึงวัตถุประสงค์หลายอย่างที่ขัดแย้งกัน ส่วนหนึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้ผู้ใช้ได้ราคาที่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันความเป็นธรรมต้องเป็นธรรมกับผู้ผลิตและผู้ค้าด้วย

สำหรับการลดภาษีสรรพสามิต โดยหากลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ซึ่งปัจจุบันใช้น้ำมันดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินภาษีของรัฐจะหายไปเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท ปีละ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้สรรพสามิตจากน้ำมัน และหากรายได้ภาษีสรรพสามิตลดลงปีละ 120,000 ล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่ามากเกินไป ดังนั้น หากจะลดลิตรละ 1-2 บาทคงน่าจะสมควรมากกว่า ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถขนส่ง อาจจะใช้วิธีแจกบัตรส่วนลดเหมือนกลุ่มแท็กซี่ เป็นต้น

“วัตถุประสงค์ของการเก็บภาษีสรรพสามิต คือการเก็บภาษีสินค้าสิ้นเปลืองต่างๆ แต่สรรพสามิตที่เก็บจากน้ำมันจะเปลี่ยนไปตรงที่ว่าต้องเก็บเพื่อเป็นภาษีคาร์บอน เพราะน้ำมันเมื่อเผาผลาญเเล้ว จะเกิดเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งขณะนี้โลกกำลังต้องการลดภาวะเหล่านี้ โดยวิธีในการลดภาวะโลกร้อนคือการเก็บภาษีให้เหมาะสม ซึ่งต้องเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น” พรายพล กล่าว