โครงสร้างรากฐานไอที กำลังสำคัญต้องมีหลังโควิด-19
ในเวลานี้ แม้บาดแผลเจ็บปวดจากมรสุมแห่งการระบาดของโรคร้ายจะยังไม่จางหายไป หลายคนก็เริ่มคาดหวังถึงฟ้าหลังฝนในยุคหลังโควิด ที่การเกิดใหม่ของระบบเศรษฐกิจที่ล้มระเนระนาดจากโรคระบาดจะสะพรั่งกลับขึ้นอย่างว่องไวแบบก้าวกระโดด
เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้พยากรณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจในทวีปเอเชียจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2021 อาจจะมากถึง 7.6% ทว่าวิกฤติจากการระบาดของสายพันธุ์กลายเดลต้าที่สร้างผลกระทบรุนแรงขยายเป็นวงกว้างอาจจะกดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบนี้ลงมาได้ จนในที่สุดไอเอ็มเอฟก็ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เรื่องอัตราการเติบโตของปี 2021 ของเอเชียเสียใหม่ลดลงเหลือแค่ 6.5% แต่แม้จะโดนปรับลดลงมาแล้ว เอเชียก็จะยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตไวที่สุดหลังยุควิกฤติ
ในยุคที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา การตัดสินใจในเชิงนโยบายต่างๆ จึงต้องเด็ดขาด ว่องไวและแม่นยำ เพราะผู้ที่พร้อมที่สุด ก็มักจะได้เค้กชิ้นที่ใหญ่ที่สุดไปครองเสมอ และคนที่ไม่พร้อมก็จะถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง
แน่นอนว่าหลายคนคาดหวังถึงยุคหลังโควิดชีวิตจะเริ่มกลับมาเป็นดังเดิม แต่ในความเป็นจริง วิกฤติของโควิดได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเราไปมากมายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว การปรับตัวหลายอย่างที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นชีวิตแบบสามัญใหม่ อาจจะมาเพื่อคงอยู่ การเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่ส่งผลบวกก็อาจไม่ถูกละทิ้งให้ค่อยๆ จางหายไปหลังยุคโควิด อย่างเช่น การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตัล (digital transformation) ที่ช่วยลดการใช้กระดาษและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน นโยบายทำงานที่บ้าน (work from home) และการทำธุรกรรมออนไลน์ที่นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง ลดมลภาวะได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการกระจายแรงงาน กระจายรายได้สู่ภูมิภาค หรือแม้แต่ระบบการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย ลดเวลารอพบแพทย์ ทำให้การเข้าถึงการรักษาทำได้รวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย และยังช่วยตอบโจทย์สังคมแห่งผู้สูงอายุอีกด้วย
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อเตรียมการรองรับการสะพรั่งทางเศรษฐกิจครั้งใหม่หลังยุคโควิดและวางรากฐานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็คือการวางโครงสร้างพื้นฐานในระดับมหภาค ทั้งโครงข่ายการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว เชื่อถือได้ และมาตรการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม ยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานและการรักษาความปลอดภัย อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ”ข้อมูล” ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจนและครอบคลุมจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีเอไอได้ก้าวล้ำไปจนสามารถโค่นแชมป์โลกหมากล้อม ปราบโปรเกมสตาร์คราฟท์ ทำนายโครงสร้างที่ซับซ้อนของโปรตีนได้แม่นยำแบบที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดทำได้มาก่อน แถมล่าสุดยังทำนายสภาพภูมิอากาศได้อีก
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรวางแผนในการจัดเก็บข้อมูลให้รอบด้าน ครอบคลุม ลึกซึ้ง และที่สำคัญต้องเป็นระบบ พร้อมที่จะนำมาวิเคราะห์และสกัดสาระที่เป็นประโยชน์ออกมาใช้เพื่อการพิจารณาตัดสินใจสำคัญได้อย่างทันท่วงที
ระบบคลังข้อมูลกลางของประเทศที่เชื่อถือได้ โปร่งใสและเข้าถึงได้ง่ายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพราะนอกจากจะช่วยยกระดับความรู้ความเข้าใจปัญหาในทั้งภาพใหญ่และส่วนประกอบยิบย่อยทั้งหมดซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริงได้แล้ว ในยามที่โอกาสดีๆ หลุดลอยมา เราจะได้พร้อมเอื้อมคว้าได้ในทันทีโดยไม่ต้องรอลุ้นว่าจะมีใครชิงตัดหน้า
ข้อมูลที่ชัดเจน และครอบคลุมจะส่งผลดีต่อทั้งการวางนโยบายในภาคเศรษฐกิจ การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การจัดการควบคุมผลผลิตเกษตรกรรม การวางแผนให้บริการทางการแพทย์ หรือแม้แต่การวางมาตรการจัดการโรคอุบัติใหม่ การบรรเทาความขาดแคลนและการให้ความช่วยเหลือในทางสาธารณสุขแก่ประชาชน อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่านักลงทุนที่จะทยอยกลับมาอีกครั้ง หลังยุควิกฤติเพราะโอกาสดีๆ อาจจะไม่ได้มีมาบ่อยๆ ถ้าหากพลาด จนต้องยอมปล่อย ก็คงจะน่าเสียดาย
บทความโดย
ผศ.ดร. ป๋วย อุ่นใจ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล