SFLEX ผนึก TU- BTS- COM7 ดันรายได้ปี 70 แตะ 7 พันล้าน
"สตาร์เฟล็กซ์" เปิดวิชั่นใหม่ ภายในปี 2570 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะ “ระดับ 7,000 ล้านบาท” หรือเติบโตถึง “4 เท่าตัว” จ่อ “ผนึกกำลัง” (Synergy) ร่วมกับ พันธมิตร 3 ราย TU-BTS-COM7
หลังจากเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเกือบ 2 ปี (เข้าซื้อขายวันแรก 19 ธ.ค.2562) ของ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) “ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์” ประธานกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 26.38% (ปิดสมุด 16 ก.ย.2564) วางแผนธุรกิจระยะยาว 6 ปี (2565-2570) เพื่อก้าวสู่เป้าหมายต้องการ “ยกระดับและพัฒนาธุรกิจให้เป็นบริษัทระดับภูมิภาค”
“สมโภชน์ วัลยะเสวี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SFLEX ถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจทันที หลัง “ปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์” แนะนำตัวผู้บริหารคนใหม่ให้ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” รู้จัก !
สำหรับ “วิชั่น” (เป้าหมาย) ของ “สตาร์เฟล็กซ์” ภายในปี 2570 บริษัทตั้งเป้ารายได้แตะ “ระดับ 7,000 ล้านบาท” หรือเติบโตถึง “4 เท่าตัว” จากปี 2564 ที่คาดว่ารายได้อยู่ที่ 1,560 ล้านบาท สอดรับกับแผนโครงสร้างธุรกิจในอนาคตอยากเป็น “โฮลดิ้ง คอมพานี” (Holding Company) ที่สร้างการเติบโตผ่าน “4 โมเดลธุรกิจ”
คือ 1.เกมของการ “ผนึกกำลัง” (Synergy) โดยกำลังร่วมกับ “พันธมิตร 3 ราย” ที่เข้ามาลงทุนเริ่มต้นจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ซึ่งถือเป็นบริษัทผู้บริโภคผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ (แพคเกจจิ้ง) รายใหญ่ของเมืองไทย ผ่าน “ร่วมทุน” (Joint Venture) กับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กราฟฟิกส์ จำกัด บริษัทย่อย TU เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยทุนจดทะเบียน จำนวน 250 ล้านบาท ซึ่ง สตาร์เฟล็กซ์ ถือหุ้น 51% และ ไทยยูเนี่ยน กราฟฟิกส์ ถือหุ้น 49% รวมทั้ง “ธีรพงศ์ จันศิริ” หุ้นใหญ่ TU ถือหุ้น SFLEX จำนวน 2.44% ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัว
โดยแผนลงทุน 5 ปี ของบริษัทร่วมทุนคาดใช้เงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งทยอยลงทุนต่อเนื่องเริ่มต้นด้วยเงินลงทุน 250 ล้านบาทก่อน และคาดยอดขายปี 2570 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 21% คาดสร้างโรงงานจะเริ่มผลิตได้ปี 2566 ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่สนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ของ “กลุ่มไทยยูเนี่ยน” เพื่อตอบโจทย์เรื่องคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับโลก การร่วมมือครั้งนี้ ยังเป็นไปตามแผนการขยายตลาดและขยายฐานรายได้ของ SFLEX
นอกจากผลตอบแทนของการลงทุนในแง่ของ “ผลกำไร” แล้ว สิ่งที่บริษัทได้จากการ JV ครั้งนี้คือ “ข้อมูลและเทรนด์แพคเกจจิ้งอาหาร” ในตลาดต่างประเทศอย่างทันท่วงที สะท้อนผ่าน TU เป็นผู้บริโภคบรรจุภัณฑ์อาหารขนาดใหญ่ของไทย รวมทั้งการวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายอยากยกระดับบรรจุภัณฑ์อาหารของไทยเทียบระดับโลก ดังนั้น หากบริษัทเป็นแค่คู่ค้าของ TU การเติบโตก็จะมาจาก “คำสั่งซื้อ” (ออเดอร์) ในแต่ละปีเท่านั้น ซึ่งเป็นออเดอร์จำนวนไม่มาก แต่หากบริษัทต้องการให้บรรจุภัณฑ์อาหารเติบโตแบบ บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตให้กับ “ยูนิลีเวอร์” ก็ต้องใช้เวลานับ 10 ปี แต่วันนี้บริษัทกำลังทำทุกอย่างสั้นลงด้วยการ JV กับ TU ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์อาหารภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
“ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าไปพร้อมกับโนฮาว (Know-How) จากลูกค้า ส่วนกลุ่ม TU ก็สามารถตอบโจทย์บรรจุภัณฑ์ตามสเปกที่ต้องการด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก”
การร่วมมือกับกลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถือหุ้น 6.71% ถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ หลากหลายประเภทในปริมาณสูง ซึ่งปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างทำงานร่วมกันเชิงต่อยอดธุรกิจในอนาคต คาดเบื้องต้นจะเห็นการ Synergy กับบริษัทในเครือบีทีเอส อย่าง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ KEX
ส่วนการเข้ามาถือหุ้นของ “สุระ คณิตทวีกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 ถือหุ้นจำนวน 4.88% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลธุรกิจในอนาคตในมิติใหม่ร่วมกัน
2.การขยายธุรกิจต่างประเทศ วางเป้าหมายรายได้ปี 2570 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 21% โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม) ปัจจุบันกำลังศึกษาซื้อกิจการธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศเวียดนาม คาดจะมีความชัดเจนต้นปี 2565 ซึ่งเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศเนื่องจากต้องการแลกเปลี่ยนโนฮาวต่างๆ กับผู้ผลิตและคู่ค้าในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของบริษัทให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและอยู่ในเทรนด์
3.จัดตั้งบริษัท พี เอส พลัส คอนซัลติ้ง จำกัด (PS+) วางเป้าหมายรายได้ปี 2570 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 14% เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start Up) ที่อยู่ในเมกะเทรนด์ และมีศักยภาพการเติบโตสูง ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยงข้องโดยตรงกับบริษัท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุน อาทิ ธุรกิจรีไซเคิล (Recycle) แปรรูปพลาสติก ธุรกิจบริการ เป็นต้น
และ 4.ธุรกิจหลักบรรจุภัณฑ์ในประเทศ วางเป้าหมายปี 2570 รายได้ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 43% โดยเป็นการเติบโตจาก “ธุรกิจหลัก” (Organic growth) โดยบริษัทปรับแผนธุรกิจใหม่มุ่งเน้นบรรจุภัณฑ์เกรดพรีเมี่ยม โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จินระดับสูง “อาหาร-อุปกรณ์การแพทย์” ซึ่งมีเป้าหมายปี 2565 เพิ่มสัดส่วนรายได้ บรรจุภัณฑ์อาหาร (FOOD) เป็น 25% เดิม 21% และ บรรจุภัณฑ์ไม่ใช่อาหาร (Non Food) เหลือ 75% เดิม 79% เนื่องจากธุรกิจอาหารมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
สอดคล้องกับแผนการลงทุน “โรงงานแห่งใหม่” ที่จะเข้ามารองรับบรรจุภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์การแพทย์ คาดว่าโรงงานแห่งใหม่จะเสร็จไตรมาส 1 ปี 2565 โดยจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็น 265 ล้านเมตรต่อปี จากปัจจุบันกำลังผลิตอยู่ที่ 180 ล้านเมตรต่อปี ซึ่งบริษัทมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งมีแผนการย้ายเครื่องจักร และเครื่องเป่าฟิล์ม (Blown Film) ที่ผลิตอยู่ที่โรงงานแห่งที่ 2 มารวมอยู่ที่โรงงานแห่งใหม่
ดังนั้น นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพ และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากเดินเครื่องกำลังการผลิตโรงงานแห่งใหม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 1,850 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีนี้ที่คาดว่ารายได้อยู่ที่ 1,560 ล้านบาท จากการเน้นขยายกลุ่มลูกค้าไปยังบรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์การแพทย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และธุรกิจมีการเติบโตในอนาคต
“ปัจจุบันเรามีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ลูกค้ารายใหม่เข้ามาเพิ่มกว่า 60 รายการ คาดว่าโรงงานแห่งใหม่แล้วเสร็จจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นอีก”
ท้ายสุด “สมโภชน์” บอกไว้ว่า ในแผนระยะยาวของเราต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกำลังผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเมกะเทรนด์ใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนไป