7 เคล็ดลับ หลัก “จิตวิทยา” ช่วยเสริม “กลยุทธ์การตลาด” ให้สุดปัง!
แม้ทุกวันนี้ “กลยุทธ์การตลาด” จะถูกพัฒนาไปในหลายรูปแบบและแจ้งเกิดธุรกิจหน้าใหม่อยู่หลายเจ้า แต่ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจจะอยู่รอดได้ในทุกยุคสมัย ถ้าไม่ปรับตัว ชวนดู 7 เคล็ดลับจิตวิทยาเสริมกลยุทธ์การขายที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณยิ่งปังขึ้นไปอีก!
ปัจจุบันแบรนด์ชั้นนำอาจจะงัด “กลยุทธ์การตลาด” คิดโปรโมชั่นออกมาฟาดฟันสู้กันอย่างไม่มีใครยอมใคร เพราะยุคนี้ใครได้พื้นที่ตลาด E-Commerce ไปครองก็ยิ่งส่งผลให้ทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย
แต่ก็ต้องยอมรับว่า อะไรที่เป็น “กระแส” ก็มักจะมาไวไปไว ไม่ค่อยยั่งยืน บางทีผู้ประกอบการอาจจะลืมนึกถึงศาสตร์หลักคิดแบบ “จิตวิทยา” ที่พบว่าช่วยเสริมให้กลยุทธ์การตลาดของคุณมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ 7 เคล็ดลับ “จิตวิทยา” ช่วยส่งเสริมการขาย และสร้างไอเดียในการคิดกลยุทธ์การตลาดให้โดนในลูกค้ามากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. เล่นกับความกลัวที่จะพลาดโอกาสดีๆ (FOMO)
เดี๋ยวนี้การอัดโปรโมชั่นต่างๆ อาจไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อแล้ว เพราะผู้บริโภคอาจลังเล และเสียเวลาเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นมากเกินไป จนสุดท้ายอาจไม่ตัดสินใจซื้อ
ดังนั้น การเล่นกับเทคนิค “Fear of Missing Out” (FOMO) จะทำให้คนรู้สึกว่าต้องรีบซื้อ รีบกดเอฟของ เพราะถูกกำหนดด้วย “ห้วงเวลาที่มีอย่างจำกัด" หากว่าไม่ซื้อในช่วงเวลานั้น อาจไม่ได้ราคานี้อีกแล้ว
เช่น แฟลชเซล 2 ชั่วโมง, ลดกระหน่ำวันเลขสวยต่างๆ 9.9 10.10 11.11, ลดราคา 80% หลังเที่ยงคืนเท่านั้น หมดแล้วหมดเลย เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการส่งเสริมการขายที่เล่นกับความรู้สึกผู้คนได้อย่างเห็นผลชัดเจน
2. พูดสิ่งที่ “ลูกค้าอยากฟัง” (ปัญหาสังคมที่เจอ)
หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะดึงความสนใจคนทั่วไปได้ คือการที่เล่าถึงปัญหาที่ผู้บริโภคประสบพบเจออย่างเข้าอกเข้าใจ ถ้าหากสามารถทำเช่นนั้นได้ ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของเราก็จะอยากฟังต่อว่า แบรนด์ของเราจะมีนวัตกรรม-สินค้าอะไรที่จะมาช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ เมื่อปูพื้นแบบนี้แล้วผู้บริโภคจะไม่รู้สึกว่าเราพยายามขายจนมากเกินไป (Hard Sell)
3. ให้คนดังการันตีความน่าเชื่อถือ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การชวนเชื่อด้วย “การให้คนมีชื่อเสียงพูดการันตีคุณภาพสินค้า” เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจคนได้ง่ายมาก ถ้าหากว่าคนดังคนนั้น เป็นคนที่กลุ่มเป้าหมายของคุณชื่นชอบ แม้บางทีแล้วคนๆ นั้น อาจไม่ได้ใช้สินค้าชนิดนี้มาก่อนก็ตาม
แต่ถ้าจะให้ดี แบรนด์ก็ควรจะให้คนดังคนนั้นได้ทดลองใช้สินค้าก่อนจะเขียนรีวิวให้ เพราะสมัยนี้ผู้บริโภครู้ทันการตลาดยุคใหม่มากพอสมควร นอกจากนี้ หากต้องการให้กลยุทธ์นี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องใช้คนดังที่มีความชอบ หรือถนัดในเรื่องนั้นจริงๆ เช่น
ดึงคนในแวดวงนักเขียน นักสังคม มารีวิวหนังสือ, ดึงคนที่ชื่นชอบอาหารหรูๆ มารีวิวห้องอาหารใหม่ของโรงแรม เป็นต้น เมื่อใช้ตัวบุคคลที่มีความชอบเฉพาะทาง พวกเขาก็จะรีวิวได้อย่างเห็นภาพ มีอรรถรส มีวาทะศิลป์อย่างเป็นธรรมชาติ
4. ซื่อสัตย์กับลูกค้า สอดแทรกความเป็นเนื้อแท้
อีกหนึ่งแนวทางที่ผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่รู้สึกตื่นเต้นไปสักเท่าไหร่คือ การโฆษณาเกินจริงด้วยการใช้คำที่บ่งบอกถึง “ความเป็นที่สุด อันดับหนึ่ง มากเป็นพิเศษ ไม่มีใครเทียบได้” คำต่างๆ เหล่านี้ที่ให้ความรู้สึกว่าเกินจริง
ดังนั้น หากจะโฆษณาให้ได้ผลดี จึงต้องจริงใจและซื่อสัตย์กับลูกค้า ด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับคุณลักษณะและกรรมวิธีการผลิตสินค้า ที่ต้องมีคุณภาพอย่างแท้จริง
การขยายความสิ่งเหล่านี้ ลูกค้าจะอยากฟังมากกว่า เพราะเทรนด์สมัยนี้ ลูกค้าชอบฟัง “สตอรี่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่มีความเป็นเนื้อแท้และมีความชำนาญ (Craft)”
5. เล่าเรื่องให้อิมแพค
ในทุกเรื่องราว ถ้าเล่าอย่างเรียบๆ อาจไม่น่าสนใจพอที่จะดึงดูดลูกค้าได้ การเล่าเรื่องจึงต้องมี “ผู้บุกเบิก ฮีโร่ ตามด้วยความขัดแย้ง อุปสรรคที่พบ จากนั้นแทรกความน่าประหลาดใจจากการค้นพบสิ่งนั้นๆ” พร้อมด้วยวิธีการสื่อสารอย่างเข้าใจง่ายด้วยการใช้รูปแทนคำพูด
โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากถ่ายทอดด้วย “การเล่าแบบพูดให้เพื่อนฟัง” จะทำให้คนฟังรู้สึกว่าผู้ถ่ายทอดสตอรี่ของโฆษณานี้ มีตัวตนที่เข้าถึงง่าย เหมือนเป็นเพื่อนที่มาอธิบายสินค้าอย่างเป็นมิตร
6. ใช้คำสั้น กระชับ
การขายสินค้าทุกวันนี้ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโพสต์ธรรมดาหรือคลิปวิดีโอ ผู้บริโภคก็มักจะไม่ชอบใช้เวลานานๆ ในการรับชม ดังนั้นการพูด Key Message เข้าประเด็นด้วยคำสั้นๆ กระชับและรวดเร็ว จะสามารถดึงใจลูกค้าได้มากกว่า
หากผู้บริโภคสนใจก็จะอยากดูจนจบ และอาจจูงใจให้ซื้อบริการของเราได้ แต่ถ้าไม่น่าสนใจก็อาจโดนเพิกเฉยไปเลย
7. ให้คุณค่ากับการผลิต
ปัจจุบัน เทรนด์ความยั่งยืนและการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะพวกแบรนด์เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารต่างๆ
หากมีเครื่องหมายยืนยันในทำนองที่ว่า “ไม่ผ่านการทดลองกับสัตว์ เป็นวีแกน เป็นอาหารคลีน ไร้มัน หวานน้อย ออแกนิค” จะยิ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกว่าตนได้ช่วยเหลือสังคม หรือได้ทำให้ตนเองมีสุขภาพดี
------------------------------------
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจรวบรวม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ย. 64)